“ช่างเด” แห่งร้าน “สามช่าง” ช่างซ่อมกล้องฟิล์มผู้รอดจาก Digital Disruption

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

ในทุก ๆ แวดวงเรามักจะเห็นสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาแทนที่สิ่งหนึ่งเสมอ ประหนึ่งวัฏจักรของโลกใบนี้ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ก็ย่อมตกลงดินเป็นเรื่องธรรมดา 18 ปีที่แล้วในปี ค.ศ. 2001 เมื่อบริษัทสัญชาติอเมริกานาม “แอปเปิล” ออกผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า “ไอพอด” มา ก็ถึงคราวล่มสลายของบรรดาเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ทุกคนหันมาฟังเพลงผ่านเครื่องเล่น “เอ็มพี 3” เครื่องนี้ (และเครื่องอื่นที่ทำตามออกมา) แทน ทั้งด้วยขนาดที่เล็กของเครื่องเล่นผนวกกับการที่ไม่ต้องพกพาเทปหรือซีดีที่มีจำนวนเพลงอันจำกัดอีกต่อไป

หรืออย่างในกรณีของบริษัทเดียวกันที่ได้สร้างอีกปรากฏการณ์ขึ้นมาในปี ค.ศ. 2007 การมาถึงของ “ไอโฟน” ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบและพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ของผู้คน จากเดิมที่มีเพียงการโทร.เข้า รับสาย และส่งข้อความเท่านั้น กลายเป็นว่าแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตสามารถจัดการได้ผ่านทางไอโฟนเครื่องนี้ ทั้งความสามารถเดิมของโทรศัพท์ทั้งหมด การจดบันทึก ถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งการเล่นอินเทอร์เน็ต (ที่เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในสมัยนี้)

กรณีการมาถึงของกล้องดิจิทัลเมื่อสัก 20-30 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้กล้องฟิล์มหายไปเช่นเดียวกันกับเครื่องเล่นซีดีและโทรศัพท์มือถือกับการมาถึงของไอพอดและไอโฟน ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างที่กล้องดิจิทัลทำได้แต่กล้องฟิล์มทำไม่ได้ ทั้งความรวดเร็วในการถ่าย จำนวนภาพที่หน่วยความจำสามารถบันทึกได้ ความสามารถในการนำรูปมาปรับแต่งในคอมพิวเตอร์ หรือต้นทุนในการถ่ายภาพที่ประหยัดกว่ามากเพราะไม่ต้องซื้อฟิล์ม ไม่ต้องล้างฟิล์ม และไม่ต้องอัดรูป ทำให้กล้องฟิล์มกลายเป็น “ของตกยุค” ไปโดยปริยาย

ในช่วงเวลาที่กล้องฟิล์มตกยุค โดน disrupt ไปนั้น หลายธุรกิจที่ข้องเกี่ยวก็ล้มตายตามกันไป ทั้งร้านอัดรูป ร้านซ่อมกล้อง ไม่เว้นกระทั่งธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างโกดัก (Kodak)

อย่างไรก็ตาม ด้วยวัฏจักรของสรรพสิ่งที่หมุนวนไปมา ช่วงหลายปีมานี้เราจึงได้เห็นกระแสการกลับมาของกล้องฟิล์มอยู่เป็นระยะ ๆ พร้อมกันกับร้านล้างรูป อัดรูป รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับกล้องฟิล์มที่ฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง แม้จะยังไม่ถึงกับแพร่หลายอย่างเมื่อก่อน

ช่วงเวลาราว 20 ปีที่กล้องดิจิทัลเข้ามาแทนที่กล้องฟิล์มแบบแทบจะเบ็ดเสร็จ ท่ามกลางสถานการณ์ที่กิจการที่เกี่ยวข้องต้องปิดตัวลงไปตามความเปลี่ยนแปลง มีร้านซ่อมกล้องฟิล์มร้านหนึ่งที่ปรับตัวและรอดพ้น digital disruption มาได้อย่างน่าสนใจ นั่นก็คือ ร้าน “สามช่าง” ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการนี้มาอยากโชกโชน ตั้งแต่ยุคเฟื่องฟูของกล้องฟิล์มมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความน่าสนใจอย่างที่ว่า “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้บุกไปคุยกับ เด-ธนพล โล่วิทูร หรือช่างเด หุ้นส่วนร้าน “สามช่าง” แห่งเมก้าฯ สะพานเหล็ก (Mega Plaza) ชวนเขาพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ในวงการและฉายภาพของวงการกล้อง ซึ่งเป็นวงการที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ปัจจุบันช่างเด อายุ 59 ปี เขาเริ่มเข้าวงการจากการที่คุณพ่อถ่ายทอดวิชาให้ตั้งแต่ตอนที่เขาอายุ 17 ปี นั่นหมายความว่า ผู้ชายคนนี้อยู่ในแวดวงกล้องมาแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ปี

ช่างเดเริ่มเล่าให้เราเห็นภาพในอดีตว่า สมัยก่อนร้านถ่ายรูปที่มีขายกล้องจะรับกล้องฟิล์มจากบริษัทโกดักมาเป็นโหล ๆ แล้วค่อยนำมาขายปลีกให้ลูกค้า เมื่อกล้องเสียทางบริษัทโกดักก็จะเปลี่ยนกล้องตัวใหม่ให้ลูกค้าไปเลย เมื่อเปลี่ยนไปมาก ๆ เข้าก็มีกล้องที่เสียในคลังเป็นพัน ๆ ตัว ด้วยความที่บริษัทโกดักมีช่างซ่อมกล้องแค่คนเดียว จึงได้ส่งกล้องบางส่วนมาให้ร้าน “จันกวง” ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านกล้องชื่อดังในสมัยนั้นช่วยซ่อม นั่นคือจุดเริ่มต้นของช่างเดในยุคเฟื่องฟูของกล้องฟิล์ม

เขาเล่าให้เราฟังว่า การรับซ่อมกล้องในตอนนั้นทำรายได้ให้กับเขาได้มากกว่าคนที่จบปริญญา ซึ่งมีไม่มากในสมัยนั้น 5-6 เท่า

“ตอนนั้นผมช่วยงานอยู่ที่ร้านจันกวง ผมจึงรับแบ่งกล้องฟิล์มโกดักจากที่ร้านมาซ่อม การรับแบ่งคือการที่เราแบ่งรายได้จากการซ่อมกล้องกับทางร้าน ผมได้ 60% ทางร้านได้ 40% ทำอยู่สักพักจนกระทั่งเจ้าของร้านเสียชีวิต ผมจึงรับช่วงต่อมาทำกับโกดักด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่านร้านจันกวง ช่วงเวลานั้นผมนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน เคยทำสถิติซ่อมกล้องมากที่สุดอยู่ที่ 40 ตัวใน 1 วัน ทำตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงจน 2 ทุ่ม ช่วงนั้นผมมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้วเงินเดือนคนที่จบปริญญาในสมัยนั้นอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 บาท”

กว่า 20 ปีที่รับกล้องจากบริษัทโกดักมาซ่อม กิจการของเขาดูจะมีความมั่นคงเป็นอย่างมาก จนกระทั่งกล้องดิจิทัลเริ่มเข้ามาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากกล้องฟิล์มไปสู่กล้องดิจิทัล เขาก็เหมือนคนอื่น ๆ ในวงการการซ่อมกล้องฟิล์มในสมัยนั้นที่รู้สึกเคว้งคว้าง เพราะจากที่เคยซ่อมกล้องได้หลายสิบตัวต่อวัน มีรายได้ต่อเดือนจำนวนมาก กลับต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่งานและรายได้ที่เคยมีลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนหันไปใช้กล้องดิจิทัลกันหมด

“จริง ๆ ช่วงก่อนที่กล้องดิจิทัลกำลังจะมา ผมก็มีโอกาสได้ไปเรียนกับทางบริษัทโอลิมปัส ตอนนั้นยังเป็นการเรียนเกี่ยวกับกล้องฟิล์มเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ แต่พอถึงเวลาที่กล้องดิจิทัลมาจริง ๆ ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนตกงาน เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อกล้องฟิล์มหายไป งานเราก็หายไปหมดด้วย ตอนนั้นรายได้แทบจะเป็นศูนย์ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เป๋ไปเป๋มาอยู่สักประมาณ 1 ปี ซึ่งตอนนั้นเป็น 1 ปีที่เรากลัวไปเอง เราคิดไปเองว่ากล้องดิจิทัลจะมีอะไรยุ่งยากเต็มไปหมด แต่ในความเป็นจริง หลักการในการถ่ายภาพมันเหมือนกันหมดอยู่แล้ว มีเพียงส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มเข้ามาเท่านั้น ก็เลยตัดสินใจลุกขึ้นมาเรียนรู้ในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมกับทางบริษิทโอลิมปัส”

หลังจากที่หายไปตั้งหลักและเรียนรู้ถึงระบบของกล้องดิจิทัลจนเข้าขั้น เขาจึงตัดสินใจออกมาเปิดร้านซ่อมกล้องเป็นของตัวเองที่ภิรมย์พลาซ่า (สมัยนี้คือออลเวย์สวัน พลาซ่า)

“ช่วงนั้นปริมาณกล้องที่ผมซ่อมได้ในแต่ละวันก็ไม่ได้เท่าเดิม เพราะมีกล้องดิจิทัลหลากหลายรุ่น และมีรุ่นใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ต่างจากสมัยที่ซ่อมกล้องฟิล์มให้กับโกดัก ที่กล้องทุกตัวเหมือนกันหมด ผมจึงต้องใช้เวลาในการซ่อมมากขึ้น” ช่างซ่อมกล้องเล่าเรื่องราวช่วงที่เปิดร้านเป็นของตัวเองใหม่ ๆ

เมื่องานเริ่มล้นมือ ช่างเดจึงเริ่มชวนรุ่นน้องที่รู้จักให้มาร่วมหุ้น เกิดเป็นร้าน “สามช่าง” ขึ้นมาเมื่อสักประมาณ 6 ปีที่แล้ว และย้ายที่ตั้งร้านมาอยู่ที่เมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับ
ที่กล้องฟิล์มเริ่มกลับมาได้รับความนิยมพอดี เพราะความสะดวกรวดเร็วไม่ใช่คำตอบเดียวในการถ่ายภาพ
อีกต่อไป ผู้คนเริ่มหวนคิดถึง “ช่วงเวลา” ของการถ่ายภาพ การเลือกฟิล์มที่ใช้ การตั้งค่ากล้อง การเลือกมุม การวัดแสง การปรับองค์ประกอบต่าง ๆ และการรอคอยช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบที่สุดก่อนที่จะกดชัตเตอร์เพื่อบันทึกความทรงจำลงบนแผ่นฟิล์มจนครบ 36 รูป แล้วจึงนำไปส่งร้านล้าง อัด รูป เพื่อรอและลุ้นว่ารูปที่เราถ่ายจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าและเสน่ห์ที่หาไม่ได้จากกล้องดิจิทัล

“ในมุมมองของผม ถ้าถามว่าทำไมกล้องฟิล์มถึงกลับมาเป็นที่นิยม อาจจะเป็นเพราะว่าคนยุคใหม่เห็นว่ามันคือความแปลกใหม่สำหรับพวกเขา ผมเชื่อว่าเด็กรุ่นนี้บางคนก็อาจจะมีความทรงจำที่เลือนรางเกี่ยวกับกล้องฟิล์มในตอนที่พวกเขายังเป็นเด็ก ๆ ลูกค้าที่ร้านบางคนที่เอากล้องฟิล์มมาซ่อมเคยแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่า ภาพที่เขาถ่ายออกมานั้นได้อารมณ์และความรู้สึกที่มากกว่า” ผู้คลุกคลีในวงการกล้องแสดงความคิดเห็น

“หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องของกระแสที่คนทำตาม ๆ กัน” เขากล่าวเสริมทุกวันนี้ ช่างเดยังคงเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนร้าน “สามช่าง” ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเหลือเพียงสองช่างแล้วก็ตาม ธุรกิจของร้านยังคงได้รับความไว้วางใจและเป็นที่บอกต่อ เพราะนอกจากประสบการณ์และความชำนาญในการซ่อมทั้งกล้องฟิล์มและกล้องดิจิทัลแล้ว การใส่ใจในคุณภาพของงานซ่อมอย่างเต็มที่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถึงแม้ว่ากล้องบางตัวลูกค้าอาจจะต้องรอเวลาซ่อมไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือนก็ตาม

ยึดอาชีพเดียวมาตลอดเวลา 40 ปี จนถึงวันนี้ช่างเดบอกกับเราว่า เขาตอบไม่ได้ว่าชอบหรือรักการซ่อมกล้องหรือเปล่า แต่มันคือสิ่งที่เขาถนัดและทำมาทั้งชีวิต

“ผมรู้สึกดีที่สุดตอนที่ผมซ่อมกล้องสำเร็จ แล้วลูกค้าได้เอาไปใช้ได้อย่างมีความสุข การซ่อมกล้องคืออาชีพของผม ผมต้องซ่อมกล้องออกมาให้ดีที่สุด งานต้องออกมาเรียบร้อย เฟืองทุกตัวต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง หรือแม้กล้องบางตัวที่ผมต้องปรับเปลี่ยนบางชิ้นส่วนเอง ผมก็จะพยายามไม่ไปทำลายโครงสร้างเดิมของกล้อง”

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถซ่อมกล้องได้ทุกตัว อะไหล่บางชิ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วยังถือว่าเป็นของหายาก มาถึงวันนี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย หรืออะไหล่บางชิ้นวันนี้โชคดีได้เจอ แต่มันกลับกลายเป็นของสะสมไปแล้ว มูลค่ามันสูงเกินกว่าจะนำมาทำอะไหล่ได้ ไม่คุ้มค่าแล้ว เราก็ต้องยอมปล่อยไป หรือกล้องบางรุ่นที่ลูกค้านำมา เราเห็นรูปร่างของมันแล้ว เราก็บอกเขาได้เลยว่าไม่ต้องซ่อมแล้ว เพราะถึงแม้ว่าผมอาจจะพอซ่อมให้พอใช้งานได้อยู่ แต่มันจะออกมาไม่ดีแน่นอน ซ่อมไปก็อาจจะนำไปใช้ได้ไม่นาน ผมก็เลือกที่จะไม่รับทำดีกว่า” ช่างเดบอกทิ้งทายด้วยจุดยืนในการรักษาคุณภาพของงานซ่อม


จากเรื่องราวของช่างเด ทำให้เราเห็นภาพรวมของธุรกิจหนึ่งที่เคยทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ในภาษาอังกฤษยังมีสำนวนว่า “Nothing lasts forever” โลกก็ยังต้องหมุนไป ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ตลอดกาล การมาถึงของกล้องดิจิทัลนั้นส่งผลต่อธุรกิจกล้องฟิล์มอย่างแทบจะขุดรากถอนโคน ทุกคนวางกล้องฟิล์มเอาไว้ให้ฝุ่นจับ ร้านล้างรูปอัดรูปทยอยปิดตัวลง แต่หลังจากที่ช่างซ่อมกล้องคนนี้ก้าวผ่านความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความเคารพต่อสิ่งที่ตัวเองถนัด และมีความสุขที่จะได้ทำ ช่างซ่อมกล้องคนนี้ก็สามารถมองเห็นแสงสว่างจากจุดที่มืดมิดที่สุดได้