BREAKTHROUGH THAILAND เสนอปฏิวัติภาษี เพิ่มรายได้รัฐ ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด

เศรษฐกิจไทยที่ไม่ค่อยดีเป็นทุนเดิมต้องหัวทิ่มทันทีเมื่อได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ขณะเดียวกันทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้อย่างหนักหนาสาหัส ดังนั้น วิกฤตครั้งนี้จึงฟื้นยาก แต่ละประเทศไม่สามารถจะหวังพึ่งพาประเทศอื่น ๆ ได้เลย ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะต้องทำให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองฟื้นให้ได้ แล้วรัฐบาลไทยจะทำอย่างไร ?

การกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้น คือ วิธีที่รัฐบาลทำไปแล้ว แต่หลังจากนั้นจะทำอย่างไรในระยะยาว รัฐบาลมีแนวทาง มีคำตอบหรือยัง ?

บนเวทีสัมมนา BREAKTHROUGH THAILAND 2021 ซึ่งบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นในรูปแบบ virtual conference มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจสำหรับเป็นทางออกของประเทศไทย นั่นคือ การปฏิรูประบบภาษี จัดเก็บในมาตรฐานและกฎเกณฑ์เดียวกัน อุดรูรั่วเพื่อให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จะได้มีงบประมาณไปฟื้นฟูประเทศ

ผู้ที่เสนอแนวทางที่ว่านี้คือ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบเคอร์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักประวัติศาสตร์ ที่มีผลงานวิชาการมากมาย

ดร.คริส เบเคอร์-ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

เริ่มจาก ดร.คริส เบเคอร์ ให้ข้อมูลว่า ธนาคารโลกรายงานว่าปีที่ผ่านมาจำนวนคนจนในเมืองไทยเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน ทำให้มีคนจนรวมทั้งหมด 5 ล้านกว่าคน นั่นหมายความว่า ถึงแม้รัฐบาลออกมาตรการชดเชยแล้วก็ยังมีคนที่ตกหล่น และอยู่ในความลำบากอีกจำนวนมาก ถึงแม้คนไทยส่วนหนึ่งจะได้ฉีดวัคซีนในปีนี้ แต่ปัญหาโควิดก็ยังไม่จบ ต้องใช้เวลาอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อยกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นมา ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะมีคนจนเพิ่มขึ้นมากพอสมควร

ขณะเดียวกัน ในวิกฤตโควิดมีกลุ่มผู้มั่งคั่งชั้นยอดที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ามหาศาล เช่น ในสหรัฐอเมริกา คนรวย 614 คนที่รวยที่สุดในประเทศมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นคนละ 5 หมื่นล้านบาท ในอังกฤษ มหาเศรษฐีชั้นยอดมีทรัพย์สินเพิ่มโดยเฉลี่ย 25% เช่นกันกับฝรั่งเศส เยอรมนี

อ.คริสยกการอภิปรายหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วมาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเห็นว่าผู้ที่ได้โอกาสจากวิกฤตมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศในกลุ่ม OECD (กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว) จึงมีการอภิปรายกันว่า การเป็นคนในสังคมเดียวกัน ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ต้องช่วยเหลือกัน ให้คนที่ได้เปรียบจากวิกฤตช่วยคนที่เสียเปรียบ

การอภิปรายในประเทศเหล่านี้มีข้อเสนอว่า ให้เพิ่มภาษีทรัพย์สิน ให้มหาเศรษฐีช่วยให้ประเทศมีรายได้จากภาษีเป็นทุนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่มีคนบอกว่าข้อเสนอนี้เกิดขึ้นยาก เพราะมหาเศรษฐีจะต่อต้าน จึงมีข้อเสนอต่อมาว่าให้ใช้มาตรการเก็บภาษีเฉพาะกิจครั้งเดียว เหมือนที่เคยใช้สมัยหลังสงคราม แต่ก็ยังกลัวว่าคนรวยจะยังต่อต้านอีก เพราะฉะนั้นก็พบว่า แนวทางที่จะเป็นไปได้ คือ volunteer tax เป็นภาษีจิตอาสา ให้คนรวยจ่ายตามความพอใจเท่าไหร่ก็ได้

“ปัญหาคือว่า หลังโควิดรัฐบาลกระเป๋าแห้งแน่นอน ไม่มีเงิน แต่จะต้องหารายได้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม แล้วจะทำยังไงให้ทำได้แบบแฟร์ ๆ ให้ครบทุกคนทั้งคนรวย คนจน คนตรงกลางด้วย”

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เปิดประเด็นว่า ในช่วง 2-3 ชั่วอายุคนที่ผ่านมา เอเชียสะสมความมั่งคั่งในภูมิภาคอย่างมากมาย จำนวนคนมั่งคั่งในเอเชียและในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ธุรกิจความมั่งคั่ง หรือธุรกิจ wealth (ธุรกิจให้บริการแนะนำให้คนมีทรัพย์สินใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่หาประโยชน์สูงสุด และเสียภาษีน้อย หรือเป็น 0) ในประเทศไทยกำลังเฟื่องฟู เพราะคนมั่งมีวัยเกษียณที่ใช้บริการธุรกิจนี้มีจำนวนมาก และจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะโครงสร้างประชากรของไทยมีผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มาก

“ประเด็นก็คือว่า รัฐบาลที่สมาร์ทจะต้องให้กลุ่มคนมั่งมีเหล่านี้ได้มีส่วนช่วยสังคมด้วยภาษีที่เท่าเทียมเต็มกำลังมากกว่าเดิม”

ศ.ดร.ผาสุกมีประเด็นนำเสนอ 6 ประเด็น ซึ่งหากทำได้จริงจะทำให้ประเทศไทยมีงบประมาณอีกมหาศาลสำหรับพัฒนาประเทศ

1.ใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสทบทวนปัญหาระบบภาษี

“เรามีระบบที่คุ้นเคยมานานจนไม่มีใครคิดว่ามันดีหรือไม่ดี แต่เมื่อเกิดวิกฤตเราก็ต้องทบทวนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และมองเห็นประเด็นใหม่ ๆ เรื่องภาษีเป็นตัวอย่างที่ดี วิกฤตโควิดเป็นโอกาสให้เปลี่ยนแปลงระบบภาษีสู่ความเท่าเทียมและสู่ความรุ่งเรืองด้วยกัน”

2.ระบบภาษีแยกส่วนของไทยไม่แฟร์ กฎเกณฑ์-เงื่อนไขไม่เหมือนกัน

อ.ผาสุกชี้ให้เห็นว่า ระบบภาษีของไทยไม่แฟร์มาก ๆ โดยยกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาเป็นตัวอย่างอธิบายลงรายละเอียดดังต่อไปนี้

“ภาษีของไทยเป็นแบบแยกส่วน คือมีหลายระบบ และเงินได้ประเภทต่าง ๆ มีข้อกำหนดการหักค่าใช้จ่ายต่างกัน อัตราภาษีต่างกันตามประเภทของรายได้ แบ่งกลุ่มผู้เสียภาษีเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรก กลุ่ม ก. เป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายได้หลักเพียงเงินเดือน และ กลุ่ม ข. มนุษย์ทรัพย์สิน มั่งคั่งมีทรัพย์สินมาก มีรายได้หลายประเภท อาจจะเป็นค่าเช่า ดอกเบี้ยเงินปันผล กำไรจากการเล่นหุ้น กำไรจากการลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น

ความแตกต่างคือ กลุ่มนาย ก. มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้า ต่ำสุดร้อยละ 5 สูงสุดร้อยละ 35 ตามขั้นเงินได้ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องกรอกแบบภาษีประจำปีเพื่อเสียให้ครบถ้วนในที่สุด

กลุ่มนาย ข. ที่มีเงินได้จากทรัพย์สินต่าง ๆ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราคงที่ตามที่กฎหมายกำหนดตามประเภทรายได้ เริ่มที่ร้อยละ 0 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 เสียครั้งเดียวจบ และอาจไม่ต้องกรอกแบบภาษีอีกหากไม่มีธุรกรรมกับนิติบุคคลอื่นใดที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และถึงแม้จะต้องกรอกแบบภาษี ก็ไม่ต้องรายงานรายได้ที่ได้จากการใช้ทรัพย์สินลงทุน เว้นแต่ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับคืนภาษีจึงจะเขียนใบยื่นแบบภาษี

การหักค่าลดหย่อนสำหรับกลุ่ม ก. มีขอบเขตจำกัดแน่นอน หักมากไม่ได้ สำหรับกลุ่ม ข. มีช่องทางลดหย่อนมากกว่า และมีขอบเขตไม่แน่นอน

คนมีทรัพย์สินมาก ๆ ที่พูดถึงนี้มักจะอยู่ในกลุ่มผู้มั่งคั่งชั้นยอดของประเทศที่เรียกว่า Top 1% และกลุ่มรองลงมา คือ Top 5% และ Top 10%

กลุ่ม ข. ที่มีทรัพย์สิน เสียภาษีอัตราร้อยละ 0-15 ที่มารายได้ที่เสียร้อยละ 0 มีหลายประเภทมาก เช่น กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย, เงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศซึ่งไม่เอาเงินได้กลับเข้ามาในปีเดียวกัน, เงินปันผลหุ้นบริษัทที่ได้รับสิทธิพิเศษจาก BOI, รายได้จากค่าเช่าบ้าน การให้กู้เงินแบบปากเปล่า ธุรกิจที่ทำบัญชีขาดทุนทั้งที่ความจริงมีกำไร และธุรกิจ-กิจกรรมผิดกฎหมายที่อยู่นอกระบบ

ที่อธิบายมาคือระบบภาษีแบบแยกส่วนของเราที่ไม่แฟร์ ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาไม่มีระบบภาษีแบบนี้ แต่มีระบบภาษีระบบเดียวที่ใช้กับทุกคน เรียกว่า ระบบภาษีแบบบูรณาการ (integrated tax system) ทุกคนเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องกรอกแบบภาษีและลงรายการรายได้ทุกประเภทในแบบฟอร์มเดียวกัน แล้วจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 5-35% ตามขั้นรายได้เหมือนกันหมด”

3.บุคคลมั่งคั่งมีทางเลี่ยงภาษีมากมาย แต่มนุษย์เงินเดือนไม่มี

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า มนุษย์เงินเดือนและมนุษย์ทรัพย์สินผู้มั่งคั่งมีโอกาสเลี่ยงภาษีมากน้อยต่างกัน คือ มนุษย์เงินเดือนไม่มีโอกาสเลี่ยงภาษีเพราะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ขณะที่มนุษย์ทรัพย์สินมีช่องทางเลี่ยงมากมาย

4.ระบบภาษีแยกส่วนทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ได้น้อยกว่าที่ควร

“ผลของภาษีแยกส่วน คือ มีคนจำนวนมากที่นั่งเล่นหุ้นอยู่บ้าน เสียภาษีเท่ากับ 0 หรือนั่งอยู่บ้านลงทุนในต่างประเทศ หรือใช้บริการธุรกิจ wealth ไปลงทุนต่างประเทศแล้วไม่เอาเงินเข้ามาในปีเดียวกันก็เสียภาษี 0 ส่งผลให้ไทยมีฐานภาษีรายได้บุคคลธรรมดาแคบลง เพราะคนที่มีรายได้สูง ๆ มีโอกาสหลุดรอดจากระบบภาษี หรือสามารถหักค่าลดหย่อนได้มาก จนทำให้ฐานภาษีที่ต้องเก็บหดตัวลง”

คณะวิจัยของ อ.ผาสุก พบว่าในปี 2560 ไทยเก็บภาษีเงินได้บุคลธรรมดาได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับเกือบ 1% ของจีดีพี และใกล้เคียงกับงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ ซึ่งในปีนั้นใช้เงิน 1.2 แสนล้านบาท

5.เสนอปฏิวัติระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เป็นแบบบูรณาการ

ศ.ดร.ผาสุกเสนอให้ปฏิวัติระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เป็นแบบแยกส่วนให้เป็นระบบเดียวที่บูรณาการตามหลักการสากล ให้ทุกคนเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าตามขั้นบันไดเงินได้ในมาตรฐานเดียวกัน

“ระบบบูรณาการทุกคนจะต้องรายงานภาษีทุก ๆ อย่างเข้าไปในแบบฟอร์มเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือมนุษย์ทรัพย์สิน ดังนั้นจะไม่มีใครสามารถนั่งอยู่บ้านเล่นหุ้นแล้วเสียภาษีเงินได้เป็น 0 หรือเอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ เสียภาษีที่ประเทศเขาแต่ไม่เสียภาษีในประเทศไทย ดังนั้นเราจะมีภาวการณ์ที่ระบบภาษีทำให้เราเท่าเทียม คือ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด ถ้าเงินได้เท่ากันต้องเสียภาษีเท่ากัน”

6.แนะเก็บภาษีการซื้อ-ขายที่ดินจากราคาจริง

อ.ผาสุกเสนอแนะว่ามีอีกหนึ่งวิธีที่จะเพิ่มภาษีตามมาตรฐานสากล คือ การซื้อ-ขายที่ดินปัจจุบันเก็บภาษีตามราคาประเมิน ซึ่งต่ำกว่าราคาซื้อ-ขายจริง ให้เปลี่ยนเป็นเก็บภาษีจากกำไรของราคาซื้อ-ขายจริง

“อยากจะขอบใจโควิดที่เปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนระบบภาษีของเราว่าไม่แฟร์อย่างไร แล้วเราจะสามารถมีความเท่าเทียมกัน แล้วรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1-5% ของจีดีพี ซึ่งเราเอาไปทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง มากกว่าเพียงสร้างถนนหรือสร้างระบบเก็บขยะ เราพร้อมหรือยังคะที่จะเสมอหน้ากันด้วยภาษี”

อ.ผาสุกบอกอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยทำผิดพลาดมากมายเกี่ยวกับระบบภาษี ที่จริงแล้วกรมสรรพากร และกระทรวงการคลังทราบดีเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แต่ติดปัญหาทางการเมือง ฝ่ายวิชาการของกระทรวงการคลังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันภาษี แต่มักจะไปติดอยู่ที่รัฐบาล

“ถ้าสามารถปรับระบบภาษีโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนอัตราการจัดเก็บภาษีเลย รัฐบาลจะมีรายรับจากภาษีได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% หรืออาจจะได้ถึง 5% หรือมากกว่า เป็นข้อมูลจากธนาคารโลกที่ศึกษาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 พบว่า การที่ประเทศไทยไม่เจริญเติบโตอย่างที่เราต้องการ ไม่เป็นสังคมเสมอภาค ไม่มีสวัสดิการที่ดีอย่างประเทศอื่น ๆ เพราะว่าเรามีความรั่วไหลในเรื่องภาษีมาก ถ้าเราอุดรูรั่วไหลต่าง ๆ เราสามารถจะเพิ่มรายรับได้ 5% ของจีดีพี อย่างที่บอกไปแล้วว่า 1% ของจีดีพีก็จ่ายกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าฯได้แล้ว ถ้าเราเก็บได้เพิ่ม 5% เราสามารถจะทำอะไรได้มากขึ้นอีกเยอะเลย แล้วเศรษฐกิจของเราก็จะเจริญเติบโต สังคมเราก็จะดีขึ้นด้วย” ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าว

นี่คือข้อเสนอแนะที่มองเห็นเป็นรูปธรรมมาก ๆ เท่าที่มีการเสนอแนะแนวทางฝ่าวิกฤตและฟื้นฟูประเทศมา แต่ความเป็นไปได้จะมาหรือน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะรับฟังและกล้าพอจะทำหรือไม่ ?