“ลานีญา” ถล่มไทย กรมชลยันน้ำไม่ท่วมซ้ำรอยปี’54

ประพิศ จันทร์มา
ประพิศ จันทร์มา
สัมภาษณ์พิเศษ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนปัจจุบันสะท้อนอิทธิพล “ลานีญา” เสี่ยงเกิดอุทกภัย หรือน้ำท่วมใหญ่ จนทำให้นักวิชาการหลายสถาบันออกมาเตือนว่าปี 2565 อาจเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายประพิศ จันทร์มา” อธิบดีกรมชลประทาน ถึงสถานการณ์น้ำขณะนี้

ไทยเผชิญภาวะ “ลานีญา”

ต้นปีการประเมินกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ค่าเฉลี่ยฝนตลอดทั้งปี 2565 ไว้ก่อนหน้าว่าจะมากกว่าปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีอยู่ที่ 6% ซึ่งหากดูขณะนี้ต้องยอมรับว่าฝนมาเร็วตั้งแต่ต้นปี ปริมาณฝนจากวันที่ 1 ม.ค. 2565-ปัจจุบัน มากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี อยู่ที่ 16% สูงมากกว่าค่าปกติพอสมควร ทำให้กรมชลประทานต้องเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำตั้งแต่เนิ่น ๆ

ช่วงนี้กำลังเจอพายุมู่หลาน ที่เข้าทางภาคเหนือก็เริ่มมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ก็ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสูบน้ำ แต่ข้อดีจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน กักเก็บน้ำไว้ใช้ตอนหน้าแล้ง และล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาวิเคราะห์ว่าเดือนกันยายน 2565 จะมีพายุอีก 2 ลูก ก็เฝ้าระวังเต็มที่ สื่อสารให้ประชาชน แต่ตอนนี้ยังไม่มีทิศทาง ว่าจะเข้าประเทศไทยด้านไหน

“การประเมินสภาพอากาศเราได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำตลอดเวลา สาเหตุจากสภาพอากาศแปรปรวน จากภาวะความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การประเมินคาดเดาให้แม่นยำได้ยาก จนหลายฝ่ายเเสดงความกังวลว่าปีนี้ น้ำท่วมกระจุกแห้งแล้งกระจาย นั่นคืออิทธิพลลานีญา”

“ภาวะลานีญาปีนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วม 3 น้ำ คือ น้ำฝน น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน เรามีบทเรียนปี 2554 นำมาปรับใช้ เพื่อวางแผน เตรียมความพร้อม เผชิญเหตุ พายุจะมากี่ลูก น้ำเหนือระบายมาเท่าไหร่ และปริมาณน้ำวันนั้นมีมากเท่าไหร่ นำมาเปรียบเทียบกับวันนี้อย่างไร สร้างการมีส่วนร่วม กรมชลประทานไม่อยากให้เกิดน้ำท่วมกับใคร จึงต้องไม่ประมาท ซึ่งส่วนหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าอาจเป็นเหมือนปี 2554 นั้น

ยืนยันว่าแม้ค่าเฉลี่ยฝนจะสูง แต่ไม่ซ้ำรอยปี 2554 แน่นอน เพราะปี 2554 ที่น้ำท่วมเพราะมีพายุเข้าไทยติดต่อกันมากถึง 4 ลูก ทั้งเรามีประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำ สั่งสม พร้อมกับเครื่องมีความทันสมัย วางเครื่องจักรพร้อมระบายน้ำลงสู่ทะเลให้มากสุด และกักเก็บเข้าเขื่อนให้มากสุดเช่นกัน”

13 มาตรการรับน้ำหลาก

ตลอดฤดูฝนนี้ นอกจากเราจะมีแผนรับน้ำหลาก 13 มาตรการก่อนหน้านี้ และยังได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พวกเราทำงานไม่มีวันหยุด ทั้งอธิบดี รองอธิบดี ทำงานตลอดเวลา เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ ติดตามพยากรณ์กรมอุตุนิยมวิทยาตลอดเวลา

ที่สำคัญคือเราบริหารจัดการน้ำหน้าฝนเผื่อไว้ช่วงฤดูแล้งด้วย ร่วมกันบูรณาการทำงานกับหน่วยงานอื่น เน้นการบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่าทั้งการระบายน้ำ ปริมาณกักเก็บน้ำในเขื่อน ปริมาณน้ำท่า ปริมาณฝนตกรายเดือน ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ การปล่อยน้ำ ที่ต้องคำนึงถึงต้องมีน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าเองก็สำคัญ

กักเก็บน้ำหน้าแล้งปี’66

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ 46,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นน้ำใช้การได้ 23,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 7,700 ล้าน ลบ.ม. สำหรับปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,500 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ใน 4 เขื่อนนี้ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2565 จะมีน้ำใช้หน้าแล้งรวมประมาณ 9,000 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำ 7,700 ล้าน ลบ.ม. จึงเพียงพอสำหรับฤดูแล้งหน้า 2566 (1 พ.ย. 2565-30 เม.ย. 2566) และเขื่อนขนาดใหญ่อื่น ๆ ยังมีช่องว่างเพื่อรับน้ำได้อีกจำนวนมาก

ขณะเดียวกันก็เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์ (22 ส.ค. 2565) บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักฯ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล บางพระ และบึงบอระเพ็ด ก็ต้องคอยเฝ้าระวัง และเเจ้งเตือนประชาชนท้ายเขื่อน

เร่งระบายน้ำรอบกรุงลงอ่าวไทย

ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯนั้น กรมชลประทานประชุมร่วมกับ กทม.ทุกวันจันทร์ และได้หารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วางมาตรการเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ ขอให้มั่นใจ ปริมาณน้ำที่มารอบนอกกรุงเทพฯ จะระบายออกได้โดยเร็วมากขึ้น

ก่อนที่น้ำเหนือจะไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพฯคลายกังวลได้เลย ดูได้จากการบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลากลุ่มเจ้าพระยา น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมมีการระบายน้ำ 1,207 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ขยับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์น้ำจากสถานี C2 นครสวรรค์ และมีการคุมการระบายน้ำออกทางซ้ายและขวาของเขื่อนไม่เกิน 200 ลบ.ม.ต่อวินาทีอยู่แล้ว ซึ่งช่วยให้สามารถลดปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้

แผนระยะยาวพัฒนาแหล่งน้ำ

ตามเป้าหมายในปี 2580 กรมชลประทานจะต้องมีน้ำจากการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 13,000 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ชลประทาน 1.9 ล้านไร่ เพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำเดิม พัฒนาแหล่งน้ำใหม่

“การบริหารน้ำต้องประณีตมากขึ้น ผมลงไปพูดคุยสร้างความเข้าใจ ทุกปัญหาเมื่อเกิดขึ้นสามารถยุติได้ด้วยการเจรจา ผมเป็นลูกชาวนา รู้ประหยัดน้ำทำอย่างไร ถ้าใช้น้ำพอดี ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ข้าวจะแตกกอมากขึ้น ลดค่าปุ๋ยได้ด้วย อย่างที่ทราบกันราคาปุ๋ยแพงมาก น้ำก็เป็นต้นทุนหนึ่งการปลูกที่เกษตรกรควรปรับ ลด ให้เข้ากับสถานการณ์”

นอกจากนี้ น้ำเพื่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่จะมากขึ้นในอนาคตก็สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งประเด็นความเพียงพอของน้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุน นอกจากแผนพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำของอีอีซี 10 ปี ที่วางไว้แล้ว ล่าสุดโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดผ่านการพิจารณาบอร์ดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ EIA แล้ว คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2567 งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เก็บน้ำปริมาณ 99.5 ล้าน ลบ.ม. บนพื้นที่ 87,000 ไร่

ต้นทุนก่อสร้างขยับขึ้น

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก วิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ความตึงเครียด ไต้หวัน จีน-สหรัฐ ช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต้นทุนราคาเหล็ก ค่าวัสดุก่อสร้าง ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อราคาค่างานสิ่งก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ซึ่งต้องพิจารณาไปตามหลัก หากขึ้นเกิน 4% ก็ให้ประเมินขึ้นตามสูตร ค่า K ตามหลักการและสูตรของการจัดซื้อจัดจ้างเป็นบางรายการแล้ว


อย่างไรก็ตาม โครงการชลประทานตามแผนงบประมาณปี 2565 ที่ทำสัญญาไปแล้ว ยังสามารถดำเนินงานต่อไปได้ โดยยังไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือถอนโครงการใด แต่การก่อสร้างบางโครงการ อาจล่าช้าออกไปบ้างไม่มากนัก