2,000 โรงงานอยุธยาตั้งวอร์รูม ป้องฐานผลิต 5 นิคมฯรับน้ำท่วม

อัพเดตล่าสุด 24 สิงหาคม 2565 เวลา 21.44 น.

หวั่นซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 กว่า 2,000 โรงงาน ใน 5 นิคมฯอยุธยา ผนึกกำลังตั้งวอร์รูม เตรียมพร้อมรับมือ มุ่งป้องกันระบบการผลิต-โลจิสติกต์ วางแผนแก้ปัญหาเรื่องคนงาน พร้อมโยกพักในโรงงานหากฉุกเฉิน ประสานซัพพลายเออร์ สำรองวัตถุดิบ-สินค้า กรณีน้ำท่วมเส้นทางคมนาคม ด้านกรมชลฯ กางแผนรับฝนทะลัก ส.ค.-ก.ย. เตรียม 13 ทุ่งรับน้ำ

จากสถานการณ์ฝนตกหนักในหลาย ๆ พื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา และเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่นอกจากจะเป็นพื้นที่ปลูกข้าวขนาดใหญ่แล้ว ยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอยู่จำนวนมาก เฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีโรงงานตั้งอยู่มากกว่า 2,100 โรงงาน

5 นิคมอยุธยา พร้อมรับมือ

น.ส.บงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีความกังวลว่าในช่วงวันที่ 23-25 ส.ค.นี้ จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา

น.ส.บงกช แจ่มทวี

ประกอบกับมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก อาจทำให้กรมชลประทาน ปรับการระบายน้ำเพิ่ม ที่จะไหลเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) และเขื่อนพระรามหกมีน้ำไหลผ่านในเกณฑ์ 400-500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น

เนื่องจากพระนครศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลัก 5 แห่ง ประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (เดิมคือ นิคมสหรัตนนคร) ส่วนของเอกชนมี 2 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ 2.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ 2,134 โรงงาน

ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เรียกประชุมและมีการจัดตั้งวอร์รูมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุ รวมถึงมีการแจ้งข้อมูลไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัดได้รับทราบทุกวัน และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดได้ประชาสัมพันธ์และส่งข้อมูลต่อไปยังนิคมอุตสาหกรรม เพื่อผู้ประกอบการนำไปประเมินสถานการณ์และเตรียมรับมือ ขณะเดียวกันมีการประชุมร่วมกับกรมชลประทาน และมีประชุมร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานตลอด เพื่อเตรียมรับมือ

ตอนนี้สถานประกอบการหรือโรงงานไม่กังวลว่าน้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 เพราะแต่ละนิคมอุตสาหกรรมมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมอย่างแข็งแรง ขนาดเขื่อนสูงถึง 6 เมตร สร้างความมั่นใจให้แต่ละโรงงานได้มาก นอกจากนี้ หน่วยงานราชการก็มีการวางระบบการบริหารอย่างเป็นระบบ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงงานกังวล คือ แรงงาน เนื่องจากพนักงานที่ทำงานในโรงงาน จะพักอาศัยกระจายอยู่ทั่วจังหวัดประมาณ 302,151 คน โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมเป็นประจำซ้ำซาก อาทิ บริเวณ อ.ผักไห่ อ.บางบาล และ อ.เสนา ทำให้การเดินทางมาทำงานลำบาก

โดยแต่ละสถานประกอบการได้วางแนวปฏิบัติให้คนงานมาทำงานได้ เพื่อไม่ให้กระทบกระบวนการผลิตภายในโรงงาน รวมถึงเตรียมแผนการช่วยเหลือ และแผนการเยียวยา บางโรงงานมีการเตรียมห้องพักไว้ให้คนงานพักโรงงาน บางแห่งเตรียมนำสถานที่กักตัว หรือโรงพยาบาลสนาม ที่สร้างไว้ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดมาให้พัก นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ การขนส่งวัตถุดิบ ขนส่งสินค้า ในกรณีที่น้ำท่วมเส้นทางการขนส่ง โดยมีการประชุมร่วมกับซัพพลายเออร์ และฝ่ายยานพาหนะของโรงงานไว้หมดแล้ว

กางแผนรับฝนทะลัก ส.ค.-ก.ย.

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมได้เตรียมพร้อมรับน้ำฝนที่อาจจะตกเพิ่มอีกช่วงเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน โดยเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนให้มากขึ้น ประมาณ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้มีช่องว่างในการรับปริมาณน้ำ และแม้จะมีทุ่งรับน้ำ 13 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา แต่การระบายน้ำจะพยายามไม่ให้กระทบพื้นที่เพาะปลูกนาข้าวลุ่มเจ้าพระยา พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 30,000 ไร่ โดยช่วงหลังเกี่ยวข้าวแล้วการพิจารณาในเรื่องผันน้ำเข้าทุ่งจะเป็นลำดับสุดท้าย ขณะเดียวกันเขื่อนเจ้าพระยา จะระบายน้ำมากว่า 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้กระทบน้อยที่สุด หลังเก็บเกี่ยวแล้วจึงจะเพิ่มการระบายมากขึ้นได้ เพื่อให้มีพื้นที่เหนือเขื่อนรองรับน้ำได้

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ กรมชลประทานได้ประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยทุกวันจันทร์ โดยมีการหารือถึงสถานการณ์ และวางมาตรการเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ การระบายน้ำพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ลงอ่าวไทย ผ่านคลองระพีพัฒน์ ระบายลงแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง ถ้าลงมาถึงคลองแสนแสบ มีสถานีบางขนาด สูบออกไปลงแม่น้ำบางปะกง ลงคลองชายทะเล หลายพื้นที่ได้มีการติดตั้งเครื่องมือไว้ค่อนข้างพร้อม จึงมั่นใจได้ว่าปริมาณน้ำที่มารอบนอกกรุงเทพฯ จะระบายออกได้เร็วมากขึ้น

ลุ้นหากฝนไม่เพิ่มไม่มีปัญหา

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า จากที่ติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคกลาง ปัจจุบันระดับน้ำในเขื่อนยังไม่น่าเป็นห่วง จากนี้หากไม่มีฝนเข้ามาเพิ่มเติมเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องของน้ำท่วมที่นาของชาวนา แต่หากมีฝนเข้ามาเพิ่มเติมต้องยอมรับว่าไร่นาอาจจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมบ้าง ซึ่งสมาคมก็ประสานหน่วยงานตลอดเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวในหลายพื้นที่ เช่น กำแพงเพชร นครปฐม สิงห์บุรี คาดว่าเดือนกันยายนก็น่าจะเก็บเกี่ยวหมดแล้ว ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่ได้รับรายงานว่าน้ำท่วมพื้นที่นาแต่อย่างไร