จับตา 8 เขื่อนขนาดใหญ่-กลางเสี่ยงน้ำล้น หลังค่าเฉลี่ยสูงเกินเกณฑ์

กรมชลประทานเผยค่าเฉลี่ยฝนพุ่งเกินคาดการณ์ 16% จับตา 8 เขื่อนขนาดใหญ่-กลางเสี่ยงน้ำล้นเกินเกณฑ์ มากกว่า 80% มั่นใจสถานการณ์น้ำปีนี้ไม่ซ้ำรอยปี ’54 แต่บางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบ

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำ 8 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี

ประพิศ จันทร์มา
ประพิศ จันทร์มา

“เขื่อนดังกล่าวมีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่าง กรมจึงต้องการประเมินการระบายน้ำเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนอยู่ตลอดเวลา“

สำหรับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ปริมาณฝนนับจากวันที่ 1 มกราคม 2565-ปัจจุบัน สะสมมากกว่าปริมาณฝนเฉลี่ย 30 ปี อยู่ที่ 16% จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ค่าเฉลี่ยฝนตลอดทั้งปี 2565 ไว้ที่ 6%

“เป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้ฝนมาเร็ว พอฝนมาเร็วค่าเฉลี่ยฝนก็พุ่งเกินที่คาดไว้ แต่ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือน และยังไม่สามารถตอบได้ว่าหลังจากนี้ฝนจะยังมากกว่าค่าเฉลี่ย หรือกลับไปน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นเรื่องของการพยากรณ์ในอนาคตข้างหน้า”

โดยคาดว่าเมื่อถึงวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 9 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 7.7 พันล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ในปี 2565 อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นน้ำใช้การได้ 2.2 หมื่นล้าน ลบ.ม. ถ้าเทียบปริมาณน้ำปี 2565 กับปี 2564 ปีนี้มีน้ำมากกว่า 7.7 พันล้าน ลบ.ม.

ส่วนปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5.5 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งปีที่ผ่านมามีน้ำใช้การเพียง 1.5 พันล้าน ลบ.ม.

ขณะที่เรื่องของการบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลาก โดยเฉพาะน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมมีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,207 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ขยับการระบายน้ำมาอยู่ที่ 1,300 ลบ.ม. ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์น้ำจากสถานี C2 นครสวรรค์ และมีการคุมการระบายน้ำออกทางซ้ายและขวาของเขื่อนไม่เกิน 200 ลบ.ม.ต่อวินาที อยู่แล้ว ซึ่งช่วยให้สามารถลดปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้

ปัจจุบันมีการปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนให้มากขึ้น หรือประมาณ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อพร่องระดับน้ำหน้าเขื่อนให้ต่ำลง เพื่อให้มีช่องว่างในการรับปริมาณน้ำฝนที่อาจจะตกเพิ่มอีกในช่วง 2-3 วันข้างหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการปล่อยน้ำเข้าทุ่ง แต่ถ้าปริมาณน้ำถึง 3.4-3.5 พัน ลบ.ม. อาจจะต้องมีการปล่อยน้ำเข้าทุ่ง แต่จะเลือกใช้เป็นวิธีสุดท้าย

“ความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ที่อาจเทียบเท่ากับปี 2554 นั้น ยืนยันว่าแม้ค่าเฉลี่ยฝนจะสูง แต่ไม่ซ้ำรอยปี 2554 แน่นอน แต่ต้องยอมรับว่าในบางพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากในปี 2554 มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน คือพายุเข้าต่อกัน 4 ลูก ทั้งน้ำในเขื่อน และน้ำฝน ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมา กรมได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อม“

โดยได้ดำเนินการตามข้อสั่งการนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ดูแลพี่น้องประชาชนและเกษตรกรให้เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน โดยกรมจะไม่ประมาทและเตรียมความพร้อมเครื่องมือที่ดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพ

โดยนอกจากกรมดำเนินการตามแผน 13 มาตรการรับมือฝน และล่าสุดแล้ว กรมได้ทำแผนวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อรับมือน้ำหลาก อาทิ การวิเคราะห์สถานการณ์อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำลำคลอง และพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องสิ่งกีดขวางทางน้ำ อาทิ การกำจัดวัชพืช และการขุดลอกคูคลอง

พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเรื่องเครื่องไม้ เครื่องมือ และคันกั้นน้ำ ให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งได้มีการกระจายเครื่องมือเครื่องจักรไปที่ศูนย์ชลประทานทั่วประเทศแล้ว