แก้วิกฤตค่าไฟที่ต้นเหตุ ควานหาแหล่งนำเข้าแอลเอ็นจี “เพิ่ม”

ค่าไฟ

หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องด้วยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด แต่ก็มาเกิดความตึงเครียดระหว่างไต้หวัน จีน-สหรัฐ ขึ้นมาอีก ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถูกส่งผ่านไปเป็น “ต้นทุน” การผลิตสินค้าและการดำเนินชีวิตของทุก ๆ ประเทศทั่วโลก

เห็นได้ชัดเจนที่ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

ไทยผลิตไม่พอต้องนำเข้า LNG

สาเหตุหลักของการขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้มาจาก 1) ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลงจากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800-3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD) ลดลงเหลือราว 2,100-2,500 MMSCFD ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (spot LNG) เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมัน เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด

และยิ่งในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคา spot LNG ที่มีราคาแพงและผันผวนในช่วงประมาณ 25-50 USD/MMBTU เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 USD/MMBTU ดังนั้น การทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมันจะส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น

ขณะที่แหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งที่ 2 ที่มาจากการนำเข้าของเมียนมา ก็มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิมและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

และ 3) ซัพพลายตลาด LNG โลก “ช็อก” ซึ่งเป็นผลจากผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุนอันเนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด-19 ในปลายปี 2564 หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิดทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 และปี 2566

แน่นอนว่าแม้ว่ารัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือ “ค่าไฟ” แต่หากไม่แก้ “ต้นเหตุที่แท้จริง” อนาคตไทยจะไม่พ้นวิกฤต

ไทยพึ่งพลังงานมากกว่าสหรัฐ

ประเด็นวิกฤตพลังงานกำลังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและเป็นกังวล ล่าสุด “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวช้าที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงหลายด้านที่ต้องเผชิญเป็นความท้าทายต่อการฟื้นตัวของประเทศหนึ่งในนั้น คือ ปัจจัยเสี่ยงด้านพลังงาน เพราะไทยพึ่งพาพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของจีดีพี ซึ่งเปรียบเทียบแล้วมากกว่าสหรัฐถึง 3 เท่า โดยสหรัฐพึ่งพาการใช้พลังงาน 6-8% ของจีดีพี

“หากเทียบเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ไทยมีการสำรองก๊าซธรรมชาติ 7.304 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็นอันดับที่ 44 ของโลก หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.106% โดยไทยผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 1.535 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่มีปริมาณการใช้สูงถึง 1.876 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เท่ากับว่า ไทยต้องขาดดุลอยู่ 0.341 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จึงต้องมีการนำเข้า 0.470 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น มีการประเมินว่าไทยจะเหลือก๊าซธรรมชาติเพียง 4 ปี ซึ่งแนวโน้มจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติในราคาที่แพงมาก”

ไทยเจรจานำเข้า

ขณะที่ “นายสราวุธ แก้วตาทิพย์” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กล่าวว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ไทยผลิตได้ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอ “เราหนีไม่พ้น” ต้องนำเข้าก๊าซ LNG อย่างไรก็ตาม สัญญาส่วนหนึ่งเป็นสัญญาระยะยาว แต่ปีนี้ยอมรับว่าความต้องการการจัดหาลดลง เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านสัมปทานแหล่งผลิตเอราวัณ ที่ผลิตมา 40 ปี

แม้จะมีการประมูลล่วงหน้า แต่การเข้าเปลี่ยนผ่านพื้นที่เกิดความล่าช้า ทำให้การผลิตก๊าซก็ผลิตต่อเนื่องจึงดำเนินการได้ล่าช้า ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย “ได้เจรจาผู้รับสัมปทาน” ในอ่าวไทยให้ผลิตเต็มความสามารถทุกแปลง พร้อมทั้งเจรจาขอซื้อก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อาทิ มาเลเซีย

ลุ้นราคาก๊าซโลกลด ปี’66

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า ปีนี้สถานการณ์ราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดสหรัฐ จีน รวมถึงปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและเมียนมาลดลง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

LNG เป็นปัจจัยหลักที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ราคาเพิ่มขึ้นมา 3-5 เท่าตัว โดยเฉพาะ LNG แบบตลาดจร (spot) ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากถึงระดับ 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูจากเดิม ไม่ถึง 10 เหรียญ เป็นภาวะที่ไม่ปกติ ขอให้ประชาชนเข้าใจและช่วยกันประหยัดพลังงาน อย่างไรก็ดี คาดว่าจะใช้เวลาปรับลดลงปี 2566 และแม้ว่าปรับลดลงก็ยังเป็นภาวะที่ปรับลงเล็กน้อยเท่านั้น

“ถามว่าราคา LNG จะดีขึ้นไหม จะทยอยดีขึ้น หมายความว่า การผลิตในประเทศดีขึ้น ปริมาณการผลิตก๊าซอ่าวไทยดีขึ้น ตอนนี้ พยายามหารือเมียนมา มาเลเซีย เพื่อเพิ่มปริมาณ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาทางเทคนิคที่ต้องติดตามใกล้ชิด และวางแผนสำรอง ก็ต้องเตรียมให้พร้อม แต่หลังจากนี้ในอีกทาง เราจะต้องพึ่งพาตัวเองให้มากสุดเท่าที่จะมากได้”