นักลงทุนญี่ปุ่นชู EEC เป็น Regulatory Sandbox พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบเอื้อลงทุน

สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว
สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว

อีอีซีจับมือ JETRO ร่วมกันขับเคลื่อนการลงทุนให้ได้ตามเป้า ชู EEC เป็น Regulatory Sandbox พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบเอื้อลงทุนให้ทุกอุตสาหกรรม พร้อมชูนโยบาย BCG สร้างโอกาสการลงทุนสู่นวัตกรรมขั้นสูง บวกสิทธิประโยชน์จูงใจภาคเอกชนญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรืออีอีซี) กล่าวในงานสัมมนา “Business Opportunities in Eastern Economic Corridor”

ในหัวข้อ “Business Opportunities in highlight promotional zones for specific industries” ว่า อีอีซีได้รับความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าการพัฒนา และสร้างโอกาสการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และในประเทศไทย ต่อนักลงทุนและภาคเอกชนญี่ปุ่น รวมไปถึงการนำเสนอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อขยายผลและจูงใจให้ภาคเอกชนญี่ปุ่น ได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง

ประกอบกับต่อยอดความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่น ที่ได้สนับสนุนการลงทุนร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น โดยปัจจุบันมีคำขอการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นลำดับ 1 ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพในพื้นที่อีอีซี ที่เกิดความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล 5G และการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจการเข้าลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น และนักลงทุนทั่วโลก เพิ่มโอกาสการลงทุนในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง ยกระดับการแข่งขันของประเทศ สร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

โดยในการสัมมนาครั้งนี้ ยังเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับแก้ข้อขัดข้อง และอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน เพื่อสนับสนุนและร่วมพัฒนาระบบนิเวศการลงทุน (Business Ecosystem) ผ่านกลไก Regulatory Sandbox ในพื้นที่อีอีซี ที่เป็นการสร้างพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังล้าหลังกว่ารูปแบบธุรกิจ หรือการพัฒนานวัตกรรมโดยยังมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแล

Mr.Junichiro Kuroda ประธาน JETRO กล่าวถึงนโยบาย และมาตราการสนับสนุนล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่น ในการส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวที่มีความยั่งยืน

อย่างไรก็ดี อีอีซีได้กำหนดแผนการลงทุนระยะ 2 ตั้งเป้าหมายการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท (ปี 2566-2570) โดยจะเน้นการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ต่อยอดด้านการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์

2.อุตสาหกรรมดิจิทัล 3.Decarbonization ครอบคลุมเรื่องยานยนต์สมัยใหม่หรือ EV ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Smart Mobility และ 4.อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งนี้ เพื่อจูงใจดึงการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนญี่ปุ่น และนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่อีอีซี

โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนภายใต้ BCG โมเดล (เศรษฐกิจชีวภาพ Bioeconomy เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy เศรษฐกิจสีเขียว Green Economy) รวมทั้งย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำให้พื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่การลงทุนอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะเป็นเทรนด์สำคัญของโลกเพิ่มแรงจูงใจและรองรับนักธุรกิจจากทั่วโลกที่จะมาลงทุนได้ต่อเนื่อง