กินเจ 2565 ค่อนข้างคึกคัก คาดเงินสะพัด 42,235 ล้านบาท

กินเจ2565 ค่อนข้างคึกคัก
ภาพจาก pixabay

หอการค้าไทย เผยผลสำรวจการใช้จ่ายช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ค่อนข้างคึกคัก มีมูลค่า 42,235 ล้านบาท ขยายตัว 52% ผู้บริโภคยังห่วงค่าครองชีพแพง

วันที่ 20 กันยายน 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ และความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 พบว่า

การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ คาดว่ามีมูลค่า 42,235 ล้านบาท ขยายตัว 5.2% ค่อนข้างคึกคักในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 โดยการใช้จ่ายเริ่มดีขึ้น แต่ยังมองว่าผู้บริโภคยังระวังการจับจ่ายซื้อสินค้า เพราะยังกังวลในเรื่องของค่าครองชีพ

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ จากปัจจัยการส่งออกดี นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรดี และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

“การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ ในปีนี้มองว่าค่อนข้างคึกคัก ผู้บริโภคพร้อมใช้จ่ายมากขึ้น แม้จะมีความกังวลอยู่บ้าง”

พร้อมกันนี้ จากการสำรวจการกินเจในช่วงเทศกาลส่วนใหญ่ 66% ไม่กินเจ เพราะอาหารเจแพง เศรษฐกิจไม่ดี รสชาติไม่อร่อย ที่บ้านไม่มีใครกิน รายได้ลดลง ไม่มีเชื้อสายจีน อีก 34% กิน เนื่องจากตั้งใจทำบุญ ชอบอาหารเจ กินตามคนที่บ้าน มีคุณค่าทางอาหาร กินเฉพาะช่วงเทศกาล และยังเห็นแนวโน้มการกิจเจเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเชื่อว่าปีนี้คนที่กินเจจะกินตลอดเทศกาล

นอกจากนี้ ยังพบว่าราคาวัตถุดิบในการปรุงอาหารเจในปี 2565 เทียบจากปีที่ผ่านมา คาดว่าจะแพงขึ้นถึง 62.2% และราคาเท่าเดิม 37.8% ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเทศกาลกินเจจะมีมูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงปริมาณของกินที่ใช้ ซึ่งอาจทำให้เทศกาลในปีนี้ความคึกคักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง และแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในช่วงเทศกาลส่วนใหญ่ 56.9% มาจากรายได้ประจำ

หอการค้าไทยยังสำรวจถึงทรรศนะต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน ยังพบว่า 92.8% ไม่เหมาะสม 7.2% เหมาะสม โดยค่าใช้จ่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ค่าสาธารณูปโภค รองลงมาคือ ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน และจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีการแก้ปัญหา คือการลดค่าใช้จ่าย การประหยัด หารายได้เพิ่ม โดยส่วนใหญ่มองว่าสภาพเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 ของปีนี้ และจะฟื้นตัวดีครึ่งปีหลัง 2566

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติคือ ต้องการให้แก้ปัญหาค่าของชีพ ต้องการให้การเมืองมีเสถียรภาพ ต้องการเงินช่วยเหลือ ต้องการให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต้องการการกระตุ้นการลงทุนของนักลงทุน ต้องการช่วยหางานสำหรับผู้ที่ตกงาน กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เป็นต้น