คงกระพัน อินทรแจ้ง ESG คือ จุดเปลี่ยนธุรกิจ

คงกระพัน อินทรแจ้ง

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายในปี 2570 เพื่อเพิ่มมูลค่าจากนโยบาย Bio-Circular-Green หรือ BC

ซึ่งจะเป็นโมเดลเศรษฐกิจแนวใหม่ของประเทศ โดยคาดว่า GDP ในปีนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 4.4 ล้านล้านบาท (24% ของ GDP) หรือเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2561 จาก GDP อยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท (21% ของ GDP) ส่งผลให้สัดส่วนผลิตภัณฑ์และบริการมีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% และรายได้ของเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น 50%

ดังนั้นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ภายใต้โมเดล BCG จะทำให้เกิด เกษตรกรอัจฉริยะ (smart farming), การแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นสูง, การนำวัสดุเหลือทิ้งไปสร้างมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ GC ที่จะให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่

1) step change หรือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ 2) step out การแสวงหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่หรือในต่างประเทศ และ 3) step up เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน โดยการเติบโตของธุรกิจจะควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก

หรือ net zero ภายในปี 2050 (2593) โดยระหว่างทาง GC จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น กำหนดสัดส่วน 20% มาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยของเสียลง อีก 25% คือการทำผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ส่วนที่เหลือ 55% คือ การปลูกป่ารวมถึงการแสวงหาวิธีการกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดินหรือใต้ทะเล

ขณะเดียวกัน GC จะต้องเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของ GC นับจากนี้จะมุ่งไปสู่ bio-based หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้เอง ซึ่งผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น แต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เดิมที่ยังมีอยู่ก็จะต้อง recycle ได้เพื่อลดขยะ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ GC ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงาน เพราะการที่จะสำเร็จเพียงคนเดียวคงไม่มีประโยชน์

“จากการที่ประเทศไทยเป็นเกษตรแบบดั้งเดิมก็จะต้องมาเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์ เช่น bio การใช้ทรัพยากรชีวภาพแทนทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป circular ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียน ทรัพยากรหรือการนำมาใช้ซ้ำ ส่วน green ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นายคงกระพันกล่าว

นอกจากนี้ นโยบาย BCG ยังลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 1 ใน 4 จากปัจจุบัน ลดการปล่อย GHG 20-25% ในปี 2573 (เมื่อเทียบกับปี 2548) เพิ่มพื้นที่ป่ามากกว่า 3.2 ล้านไร่ และที่สำคัญประเทศไทยจะพึ่งพาตนเองมากขึ้น เช่น การนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และสุขภาพลดลงไม่น้อย 20% (หรือลดลง 2.2 หมื่นล้านบาท)

ขณะเดียวกัน GC ยังเชื่อว่า ESG หรือสิ่งแวดล้อม (environmental) สังคม (social) และบรรษัทภิบาล (governance) จะเป็น “จุดเปลี่ยนธุรกิจ” ซึ่ง GC เข้าใจบริบทของตนเองว่า จะต้องดำเนินธุรกิจภายใต้ความสมดุลระหว่างบรรษัทภิบาล เศรษฐกิจ สังคม

และสิ่งแวดล้อม หรือการให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การกำกับดูแลกิจการที่ดีและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเสถียรภาพทางธุรกิจ ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“ESG ไม่ใช่ต้นทุน แต่มันคือ การลงทุนที่มีรีเทิร์น ยิ่งเราลดการใช้พลังงานได้เท่าไหร่มันยิ่งลดต้นทุนได้เท่านั้นและยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ยิ่งองค์กรใหญ่เรายิ่งต้องทำ ปัจจุบันความรับผิดชอบขององค์กร ต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม คือ บทบาทที่ต้องดำเนินการ

ตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง เราทำธุรกิจมา 30 ปีเป็นผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์มีโรงงานเคมี 40 แห่งในไทยและ 42 แห่งทั่วโลก ทำไบโอพลาสติกใหญ่ที่สุดในโลก เราได้รับการยอมรับและได้รับจัดลำดับ จาก Dow Jones Sustainability Indexes อันดับ 1 เป็นเวลา 3 ปีซ้อน ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า GC ทำธุรกิจสอดคล้องกับ ESG” นายคงกระพันกล่าว


ขณะที่ความท้าทายมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ปัจจุบัน GC ยังต้องเผชิญกับทั้งสงครามการค้า โลกร้อน อย่างด้านบุคลากรแม้ต้องสูญเสียคนดี แต่ก็ได้คนเก่งเข้ามาใหม่และพบว่า กว่า 80% ของคนรุ่นใหม่เลือกที่ทำงานกับ GC เพราะรู้จัก GC จากการทำ sustainability ด้านสิ่งแวดล้อมนั่นเอง