โนรู ท่วมนาข้าวเสียหาย 3 พันล้าน อุบลฯอ่วมสุดจับตาพายุลูกใหม่ซ้ำ

นาข้าว

“โนรู” ท่วมนาข้าว 504,851 ไร่ เสียหายกว่า 3,100 ล้านบาท แต่ให้จับตาพายุลูกต่อไปจะทวีความรุนแรงหรือไม่ ชี้ผลดีข้าวเสียหายบางส่วน แต่ราคายังอยู่ในระดับสูง “อุบลฯ” อ่วมสุดต้องรับน้ำไหลผ่านอีก 15 วัน หวั่นน้ำระบายจากเขื่อนอุบลรัตน์สมทบอีก ลุ่มเจ้าพระยาน้ำเหนือยังหนัก กรมชลฯเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม จังหวัดใต้เขื่อนตั้งรับ

แม้ว่าพายุโนรูจะสลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณจังหวัดพิษณุโลกแล้วก็ตาม แต่อิทธิพลของพายุลูกนี้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในเส้นทางที่พายุผ่าน ไม่ว่าจะเป็น อุบลราชธานี-ยโสธร-ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม-ขอนแก่น และชัยภูมิ ประกอบกับฝนตกมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อ่างเก็บน้้ำในพื้นที่มีปริมาตรน้ำเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนอุบลรัตน์

จากตารางสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ล่าสุดของกรมชลประทาน (ณ วันที่ 30 กันยายน 2565) ปรากฏอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาตรน้ำ 2,214 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 91%, เขื่อนลำปาว 1,594 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 80%, เขื่อนจุฬาภรณ์ 146 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 89%, เขื่อนสิรินธร 1,898 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 97%, ลำตะคอง 284 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 90%, ลำพระเพลิง 140 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 90% และเขื่อนห้วยหลวง 115 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 85%

ในบรรดาอ่างเก็บน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ อยู่ในระดับ 102.35 ล้าน ลบ.ม. กับ 112.34 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทั้ง 2 อ่างกำลังรับน้ำที่เกิดจากพายุโนรู ส่งผลให้เขื่อนอุบลรัตน์-สิรินธรต้องเร่งระบายน้ำออกวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. กับ 11.68 ล้าน ลบ.ม.ตามลำดับ ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนเกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง นอกเหนือไปจากจังหวัดที่อยู่ปลายน้ำอย่างอุบลราชธานี ที่ต้องรับน้ำทั้งจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป

โดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้รายงานสถานการณ์ในลุ่มน้ำชี-มูลที่สถานีวัดน้ำ M7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,939 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที และมีแนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

นาข้าวเสียหาย 504,851 ไร่

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เผยแพร่ข้อมูลจากดาวเทียม ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 เพื่อติดตามพื้นที่น้ำท่วมที่เกิดจากพายุโนรูเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย โดยพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่พบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุดพบแล้วสูงถึง 762,394 ไร่ ส่วนใหญ่พบพื้นที่ลุ่มน้ำชีและมูลใน 17 จังหวัดดังนี้ ศรีสะเกษ 150,227 ไร่, สุรินทร์ 109,560 ไร่, อุบลราชธานี 109,176 ไร่, ขอนแก่น 93,972 ไร่, บุรีรัมย์ 66,942 ไร่, ร้อยเอ็ด 62,282 ไร่, นครราชสีมา 36,359 ไร่, มหาสารคาม 34,830 ไร่

ชัยภูมิ 29,523 ไร่, อำนาจเจริญ 19,404 ไร่, ยโสธร 16,937 ไร่, กาฬสินธุ์ 14,741 ไร่, หนองบัวลำภู 5,904 ไร่, สกลนคร 3,881 ไร่, อุดรธานี 3,373 ไร่, หนองคาย 2,925 ไร่ และนครพนม 2,359 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่นาข้าวเสียหายแล้วถึง 504,851 ไร่ พื้นที่น้ำท่วมขังส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม-พื้นที่ลุ่มต่ำริม 2 ฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง ชุมชนที่อยู่อาศัยและเส้นทางคมนาคมบางส่วน

ผลผลิตข้าวสูญ 3,100 ล้าน

ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ของพายุโนรูที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ไร่นาในภาคอีสาน ล่าสุดสมาชิกสมาคมได้รายงานพื้นที่น้ำท่วมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-หนองคาย-มหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ-ข้าวเหนียว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ ต้องดูว่าพื้นที่ไร่นาจะถูกน้ำท่วมมีบริเวณวงกว้างแค่ไหน มีกี่ไร่ จะต้องประสานให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ประเมินและรวบรวมข้อมูลความเสียหายอีกครั้ง

“หากพื้นที่ไร่นาถูกน้ำท่วมไม่เกิน 1 สัปดาห์แล้วน้ำลดลง มีการผันน้ำออกไปได้ เชื่อว่าพื้นที่นาจะไม่ได้รับความเสียหาย ยังสามารถเก็บเกี่ยวได้ ข้าวนาปีปีนี้ที่ผ่านมาน้ำดี ส่งผลให้ชาวนาปลูกข้าวเยอะ โดยเฉพาะภาคอีสานปลูกข้าวถึง 80-90% ของพื้นที่ หากไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เชื่อว่าปริมาณผลผลิตข้าวปีนี้จะดี

ขณะนี้เป็นช่วงเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งจะออกประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ สำหรับราคาข้าวเปลือกในขณะนี้ ข้าวขาว 5% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลิ ราคาเฉลี่ย 11,000 บาท/ตัน แต่ผลผลิตข้าวเหลือน้อยแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางมีการเก็บเกี่ยวหมดแล้ว” นายปราโมทย์กล่าว

ขณะเดียวกัน ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดว่ามูลค่าความเสียหายของข้าวนาปีจากผลกระทบของน้ำท่วมในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 2,900-3,100 ล้านบาท และน่าจะดันราคาข้าวในประเทศให้ประคองตัวในระดับสูงได้ในช่วงนี้ พร้อมกับคาดการณ์ต่อไปหากในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุเขตร้อนอยู่ ก็จะส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับสูง และอาจมีพายุเข้ามาเพิ่มเติมได้อีก

“ยังคงต้องจับตาถึงระดับความรุนแรงและจำนวนลูกของพายุที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปี เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมากขึ้น ซึ่งหากพายุมีความรุนแรงจนทำให้พื้นที่ข้าวนาปีได้รับผลกระทบและเสียหายขยายเป็นวงกว้างขึ้น ก็อาจทำให้มูลค่าความเสียหายของข้าวนาปีในปี 2565 สูงกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้เบื้องต้น (2,900-3,100 ล้านบาท)” รายงานระบุ

อุบลฯปลายน้ำอ่วมหนัก

นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่รองรับน้ำในภาคอีสาน ทั้งฝนที่ตกลงมาทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำมูลสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังมีน้ำสะสมมาจากการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ไหลมารวมกันอีก “ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน” ขณะนี้มีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายแน่นอนแล้วประมาณ 110,562 ไร่

หากน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจอย่างตัวเมือง จะเกิดความเสียหายในภาคการค้าและบริการเพิ่มขึ้นอีก แม้สถานประกอบการอาจจะไม่ได้รับความเสียหาย แต่การสัญจรและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคงติดขัดจนกระทบเป็นห่วงโซ่ไปยังภาคธุรกิจอื่น ๆ “ตอนนี้ต้องผันน้ำและเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม ให้ได้อย่างต่อเนื่อง”

ด้าน นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นและผู้บัญชาการศูนย์เหตุการณ์จังหวัด กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือฯแล้ว 16 อำเภอ 1 เทศบาล 121 ตำบล 748 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,938 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร นาข้าว 185,077 ไร่, พืชไร่ 10,333 ไร่, สวน 80 ไร่,

ส่วน จ.มหาสารคาม ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จำนวน 7 อำเภอ 51 ตำบล 507 หมู่บ้าน ในพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย อ.เมืองมหาสารคาม ท่วมบางส่วน และ อ.กันทรวิชัย ท่วมบางส่วน ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ สะพาน 4 แห่ง, ถนน 32 จุด มีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบประมาณ 92,000 ไร่

ระบาย 2,500 ลบ.ม.อยุธยารับได้

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปรากฏอ่างเก็บน้ำหลักใน 4 เขื่อนใหญ่ (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาตรน้ำรวมกัน 17,184 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 69% ของความจุอ่าง ในจำนวนนี้ เขื่อนภูมิพลมีปริมาตรน้ำ 9,560 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 71% ของความจุอ่าง แต่ยังมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างถึงวันละ 130.19 ล้าน ลบ.ม.

รวมเขื่อนสิริกิติ์ (น้ำไหลลงอ่าง 30.02 ล้าน ลบ.ม.) 2 เขื่อนรวมกัน 160.21 ล้าน ลบ.ม. ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากพายุโนรูเกิดฝนตกกระจายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทำให้มีปริมาณน้ำจากตอนบนไหลมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจำนวนมาก ก่อนจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรัง (ปริมาณน้ำไหลผ่าน 310 ลบ./วินาที)

ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,598 ลบ.ม./วินาที (สถานี C.12) ดังนั้นกรมชลประทานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 2,500 ลบ.ม./วินาที มีผลทำให้น้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร (สถานี C.29A) วันนี้ (30 ก.ย.) เพิ่มขึ้นเป็น 2,929 ลบ.ม./วินาที จนเกิดน้ำล้นตลิ่งไล่มาตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท และบริเวณสิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา ทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำ

น.ส.บงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้ โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัด “ยังไม่น่าเป็นห่วงหรือน่าหวั่นวิตก” แม้นักลงทุนต่างชาติจะมีความกังวลเล็กน้อย แต่ได้ชี้แจงข้อมูลให้แต่ละบริษัทและสถานประกอบการแต่ละแห่งทราบแล้ว

เบื้องต้นจะมีการปล่อยน้ำเข้าไปในทุ่งรับน้ำประมาณ 7-10 แห่งที่สามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 1 ล้านล้าน ลบ.ม. อีกทั้งยังมีแผนรองรับสำหรับการจัดการ แม้ปล่อยน้ำมากขึ้นจากปกติก็เป็นไปตามสถานการณ์ตามปริมาณของเขื่อนที่รับได้ “ยืนยันว่า ยังไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต” เพราะหากเกิดวิกฤตจะต้องมีการปล่อยน้ำปริมาณ 3,000-3,500 ลบ.ม./วินาที

ด้าน นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มการระบายจากเดิมเป็น 2,500 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ระดับน้ำท่วมขังเฉลี่ยอยู่ 4.20 เมตร คาดว่าในปี 2565 จะท่วมสูงไม่เกิน 5 เมตร ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าปีที่แล้ว และน้อยกว่าปี 2554 และยังสามารถป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงเส้นทางสัญจรไว้ได้อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม “ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน”