จ่อเปิด “FTAAP” แทน CPTPP ตลาดใหญ่กว่า 6 เท่า-ทันสมัยเปิดกว้าง

การค้าและการลงทุน

ลุ้นปิดประตู CPTPP ตีปี๊บเจรจา FTAAP แทน ชูจุดเด่นครอบคลุมประเด็นกว้างกว่า เพิ่ม 5 หัวข้อ ดิจิทัลไลเซชั่น สร้างการเติบโตไปด้วยกัน ชูความยั่งยืน ปลุกเศรษฐกิจหลังโควิด กางแผนอีก 4 ปี สมาชิก 5 เขตเศรษฐกิจเอเปคนำร่อง ด้านพาณิชย์เปิด 5 จุดเด่น หนุนร่วม FTAAP

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพหลักในการพิจารณาเกี่ยวกับการที่ไทยจะเข้าร่วมขบวนเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เมื่อปี 2564

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องดังกล่าว แต่อีกด้านหนึ่งไทยมีการสนับสนุนการเปิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) ซึ่งความตกลง 2 ฉบับมีจุดเริ่มต้นจากสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคเช่นเดียวกัน

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความตกลง FTAAP แตกต่างจากความตกลง CPTPP ในด้านขอบเขตประเด็นการเจรจาไม่ได้มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน

กล่าวคือ ความตกลง CPTPP หรือเดิมคือความตกลงที่มีชื่อว่าข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (TPP) มุ่งเน้นการเจรจาเปิดตลาดสินค้าและบริการ และการยกระดับมาตรฐานความตกลงเป็นหลัก

ขณะที่ FTAAP จะมีขอบเขตการเจรจาที่ “กว้างกว่า” เพราะนอกจากประเด็นการเปิดตลาดสินค้าบริการและการลงทุนแล้ว ยังมีการเพิ่มเติมประเด็นใหม่ 5 ประเด็น (กราฟิก)

“FTAAP คราวนี้เราจะดำเนินการออกมาจะเป็นการเจรจาครอบคลุมในประเด็นที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การร่วมกัน การค้าที่ตอบสนองเรื่องการระบาดของโรคระบาดใหม่ ซึ่งเอฟทีเอในอดีตไม่มีใครมาพูดถึงเรื่องนี้ โดยได้มีการหารือไปแล้วในเวทีการค้าเอเปคเมื่อกลางปี 2565 ตกลงว่า

โดยการนำของไทยให้มีการทำแผนฉบับหนึ่งที่เตรียมความพร้อมในการทำ FTAAP จะเห็นในการประชุมผู้นำในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ เป็นแผนในระยะ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2023-2026 เป็นการเตรียมความพร้อมทุกมิติ การเจรจาจะเกิดขึ้นนอกกระบวนการของเอเปค หากสมาชิกทุกเขตพร้อมใน 4 ปีข้างหน้าก็เข้าสู่กระบวนการเจรจา หรือหากมีประเทศสมาชิกมาร่วม 5 เขตเศรษฐกิจ คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นเหมือนกับที่เคยเริ่ม TPP”

นายเชิดชายมองว่า “CPTPP ยังมีโอกาส เพียงแต่ต้องยอมรับว่า CPTPP นับจากที่ท่านประยุทธ์พูดมาตั้งแต่ปี 2015 พอเราเริ่มจะเข้ากระบวนการถึงพริกถึงขิง จะมีการส่งหนังสือแสดงเจตจำนง เกิดกระแสขึ้นมาเยอะ สังคมไทยไม่ได้อภิปรายอย่างลึกซึ้ง ฟังเฉพาะประเด็นสองประเด็น คือการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) และเรื่องสิทธิบัตรยาแค่ 2 ประเด็น

ตาราง การเจรจา FTAAP

ซึ่งสังคมไทยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก 5% ของสังคมไทยต่อต้านสุดโต่ง กลุ่มที่สอง 5% สนับสนุน อีก 90% เป็นกลุ่มที่มองว่าอย่างไรก็ได้เพราะไม่ทราบว่าคืออะไร ซึ่งสัดส่วนการคัดค้าน 5% เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจลำบาก ฉะนั้น CPTPP ต้องอาศัยจังหวะเวลาทางการเมืองและการตัดสินใจทางการเมืองที่เฉียบคมมาก ๆ และต้องเป็นไพรออริตี้อันดับ 1 ของรัฐบาล”

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในด้านการค้าหากเทียบระหว่าง 2 ความตกลงจะพบข้อแตกต่าง 5 ด้าน 1) FTAAP มีสมาชิกเขตเศรษฐกิจทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ มูลค่าการค้ารวมกับไทยคิดเป็น 71% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก ในปี 2564 มูลค่าการค้ากับไทยเป็น 385,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตลาดที่มีประชากร 2,900 ล้านคน

ขณะที่ CPTPP มีประชากร 500 ล้านคนเล็กกว่า FTAAP และยังเล็กกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มี 2,300 ล้านคน และเทียบสัดส่วนมูลค่าการค้าไทยกับโลกของ CPTPP อยู่ที่ 27% มูลค่า 149,200 ล้านเหรียญสหรัฐ RCEP อยู่ที่ 51% มูลค่า 311,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

2) CPTPP มีแค่ประเทศเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้นที่ไทยไม่มีการทำความตกลงเอฟทีเอด้วย แต่ขณะนี้ไทยก็อยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอ ไทย-แคนาดา

3) FTAAP น่าสนใจกว่า ตรงที่มีหลายประเทศที่ยังไม่มี FTA ด้วย เช่น สหรัฐ รัสเซีย แคนาดา เม็กซิโก เป็นต้น

4) FTAAP ถ้าสำเร็จน่าจะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่า RCEP

5) CPTPP จบไปแล้ว เราไม่มีสิทธิร่วมเจรจา แต่ FTAAP เราจะไปร่วมเจรจาตั้งแต่ต้น และน่าจะเป็น FTA ที่ทันสมัย มีประเด็นใหม่ ๆ เช่น ประเด็นด้านการพัฒนา มีการรับฟังความต้องการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน