อนาคตชาวสวนยางเคว้ง ประกันรายได้ปี 4 อืดยาว

สวนยาง

สวนยางเคว้ง กนย.เลื่อนเคาะประกันรายได้เฟส 4 งบฯ 2 หมื่นล้าน อีก 1 เดือน คาดได้ข้อสรุปปลาย พ.ย. 65 สมาคมเกษตรกรฯหวั่นทุนจีนแห่ย้ายฐานผลิตไปเวียดนาม จี้รัฐชูจุดแข็งไทยฐานผลิตยางธรรมชาติดึงดูดนักลงทุนเข้า EEC

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับแจ้งจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อพิจารณาโครงการประกันรายได้ยางพาราระยะที่ 4

จากเดิมกำหนดไว้ในวันที่ 31 ต.ค. 2565 เป็นวันที่ 21 พ.ย. 2565 เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจ ทั้งยังมีการประชุมเอเปค นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่รัฐบาลน่าจะใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อเยียวยาพื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมก่อน

สำหรับสถานการณ์ราคายาง วันนี้ (20 ต.ค. 65) ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ทรงตัว 52 บาท/กก. อีกทั้งฝนตกหนักหลายพื้นที่เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ ทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงต้นไตรมาส 4 ของปีนี้ลดลง ทุกจังหวัดเสียหายหนัก ซึ่งยังอยู่ระหว่างการสำรวจ

อย่างไรก็ดี หากเทียบกับสถานการณ์โลกที่อยู่ในช่วงผ่อนคลาย และดีมานด์จากประเทศจีนเริ่มฟื้น แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติมากที่สุด แต่นักลงทุนกลับย้ายฐานผลิตไปที่เวียดนาม

เพราะการเมืองมีเสถียรภาพ ต้นทุนต่ำกว่าทั้งแรงงาน ที่สำคัญคือมีเส้นทางโลจิสติกส์รถไฟลาว-จีน การขนส่งทางบกที่รวดเร็ว ที่จีนยกเว้นภาษีให้เวียดนามมากขึ้น ส่วนอินโดนีเซีย มีวัตถุดิบที่พร้อมสามารถดึงดูดนักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างย้ายการลงทุนไปที่เวียดนามและอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าแม้โครงการประกันจะเป็นโครงการที่ดี แต่เพื่อความมั่นคงระยะยาว รัฐบาลควรเร่งรัดดึงดูดนักลงทุนให้มากกว่านี้ และควรใช้โอกาสกระตุ้นการลงทุนไทยในฐานะผู้ผลิตยางธรรมชาติที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อาทิ การผลักดันซื้อขายคาร์บอนเครดิตในสวนยาง 3 จังหวัดอัดฉีดมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับนักลงทุน โดย จ.ระยอง ควรเป็นจังหวัดต้นแบบในการขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นช่องทางเสริมรายได้อีกทางด้วย

“ตอนนี้อยากให้รัฐเอาจริงเอาจังในการดึงดูดนักลงทุน คณะทำงาน EEC หรือ BOI ต้องช่วยกระตุ้นการลงทุนโดยเฉพาะพื้นที่ EEC เพราะนักลงทุนย้ายการลงทุนไปเวียดนามกันหมดเเล้ว อย่างธุรกิจถุงมือยางจากที่เป็นดาวรุ่งตอนนี้เงียบมาก ทั้งที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติมากที่สุด”

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวน ดำเนินการมาแล้ว 3 ระยะ (เฟส) ใช้เงินรวม 33,945.52 ล้านบาท ขณะนี้ กยท.อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูล เพื่อดำเนินโครงการประกันรายได้ เฟส 4 ระยะเวลา 6 เดือน คาดว่าจะใช้งบฯดำเนินการ 1.6 หมื่นล้านบาท


โดยเกณฑ์การชดเชยยางพาราต้องมีอายุ 7 ปีขึ้นไป เปิดกรีดแล้ว ชดเชยให้รายละไม่เกิน 25 ไร่ ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดีประกันที่ราคา 60 บาท/กก. น้ำยางสด ราคาประกัน 57 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย ราคาประกัน 23 บาท/กก. แบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างเจ้าของสวนและคนกรีด สัดส่วน 60% ต่อ 40% ของรายได้ทั้งหมด