สกนช.เตรียมประกาศชวนสถาบันการเงินปล่อยกู้กองทุนน้ำมันฯงวดแรก 3 หมื่นล้าน

กองทุนน้ำมัน

สกนช.ออกประกาศเชิญชวนสถาบันการเงินปล่อยกู้ กองทุนน้ำมันฯ งวดแรก 3 หมื่นล้าน ต้น พ.ย.นี้ แก้ปัญหาสภาพคล่องกองทุนติดลบ 1.2 แสนล้าน ปลัดกุลิศเผยพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเทียบแต่ละแบงก์

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังงานเสวนาฝ่าวิกฤตพลังงานโลกทางรอดพลังงานไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจถึงความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ หลังจากกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาค้ำประกันเงินกู้ วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตามกำหนดระยะเวลา 1 ปี (6 ต.ค. 65-5 ต.ค. 66) นั้น ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดการใช้เงิน และแผนชำระหนี้มาเสนอ คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนให้สถาบันการเงินร่วมเสนอเงินกู้ได้ต้นเดือนพ.ย.นี้ และน่าจะได้รับเงินกู้กองแรกในเดือน พ.ย.นี้

เบื้องต้นแผนเงินกู้จะเป็นการทยอยกู้เงิน 12 งวด โดย 1-2 งวดแรก วงเงินอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท งวดต่อไปวงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่จะต้องกู้เงินให้เสร็จตามระยะเวลาเงื่อนไข 1 ปี โดยเงินที่ได้จะนำมาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯที่ปัจจุบัน ติดลบ 1.28 แสนล้านบาท

“ในการพิจารณาสถาบันการเงินที่จะยื่นปล่อยกู้นั้น จะมีการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยที่ทางสถาบันการเงินเสนอมาโดยอาจจะกู้จากสถาบันการเงินมากกว่าหนึ่งแห่งก็ได้ ซึ่งจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้กระทรวงจะต้องพิจารณาข้อสรุปเรื่องการกู้ให้จบโดยเร็ว”

สำหรับการชำระเงินกู้ยังดำเนินการไปต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตที่เคยกู้เงิน 70,000 ล้านบาท จะใช้เวลาชำระคืนประมาณ 3-4 ปี

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3-ไตรมาส 4 ปีนี้ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 95-98 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ น้ำมันดิบยังมีความต้องการใช้สูงขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศ ทำให้ราคาพลังงานในช่วงปลายปียังมีความเสี่ยงด้านราคา

โดยประเมินว่าช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ราคาก๊าซ LNG จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 40-50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ขณะที่ดูราคา spot LNG เดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่มอร์แกนสแตนเลย์ คาดการณ์ปี 2566 ราคา LNG จะอยู่ 39 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และไตรมาส 2 จะปรับขึ้นไปแตะ 50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของกลุ่มปริซึม ปตท. (PTT PRISM) มองว่าจะอยู่ประมาณ 39 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ประเมินว่าหากราคาน้ำมันดิบในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 100-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ก็ใช้เงินเข้าไปพยุงราคาดีเซลประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกเกิน 35 บาทต่อลิตร จากก่อนหน้าที่ที่ต้องเข้าไปพยุงถึง 14 บาทต่อลิตร ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ซึ่งในการบรรยายในหัวข้อ “ถอดบทเรียนวิกฤตพลังงานโลก สะเทือนถึงไทย” นายกุลิศกล่าวว่า ประเทศไทยและทั่วโลก ต่างเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ส่งผลให้การใช้พลังงานลดลง และผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างมาก แต่แล้วเมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงในช่วงปลายปี 2564 ความต้องการใช้น้ำมันก็กลับมาเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

และถูกซ้ำเติมจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. 2565 ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นไปอีก 122-140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยน้ำมันดีเซล ทำสถิติสูงสุดไปแตะ 180 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในเดือน มี.ค. 2565 น้ำมันดิบแตะระดับ 145 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และเบนซินอยู่ที่ระดับ 160 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ด้านราคาน้ำมันดีเซล ประเทศไทยเองถือเป็นประเทศนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก แม้จะมีการผลิตน้ำมันจากแหล่งบนบกในประเทศได้เอง แต่ก็มีสัดส่วน อยู่ที่ 8% เท่านั้น ที่เหลือ 92% เป็นการการนำเข้า และส่วนใหญ่นำเข้าจากตะวันออกกลาง จึงต้องอ้างอิงราคาดูไบมา โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปทะลุ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทางกระทรวงการคลังก็ได้ออกมาตรการเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 3 บาทต่อลิตร ขณะที่กระทรวงพลังงานก็ได้ปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลจากบี 7, บี 20, บี 10 เหลือแค่ บี 5

ซึ่งในช่วงเวลานั้นเงินกองทุนน้ำมันฯ ยังไม่มีสถานะติดลบ ทางกลุ่มรถบรรทุกก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐตรึงราคาดีเซล รัฐบาลก็ได้แบ่งเงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยพยุงราคาไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน จนปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท