มิชลินพบเฉลิมชัย อีก 2 ปี เสี่ยงยุโรปไม่ซื้อยางไร้มาตรฐานยั่งยืน FSC

สวนยาง ยางพารา

กยท.เผย “มิชลิน” หารือ “เฉลิมชัย” ขีดเส้น 2 ปีจากนี้จะไม่ซื้อยางจากสวนไร้มาตรฐาน เร่งยกเครื่องสวนยางสู่มาตรฐานสากลการจัดการสวนป่าที่ยั่งยืน FSC ตั้งเป้า 5 ปีพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ 50% ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์มิชลิน เดินทางเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและเสนอแนวทางการรับซื้อยางพาราจากประเทศไทย

โดยระบุว่าอีกไม่เกิน 2 ปีมีความเสี่ยงที่ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทผู้ใช้ยางในสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และหลาย ๆ ประเทศ อิเกียผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากสวีเดน หรือ มิชลิน ผู้ผลิตล้อยางจากฝรั่งเศสบริษัทผู้ผลิตยางล้อจะไม่สามารถรับซื้อยางพาราที่ไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ยางพาราทั่วโลกกำลังจะต้องเผชิญความท้าทายอีกครั้ง เนื่องจากองค์การสหประชาชาติและประเทศผู้ซื้อยางและไม้ยางพารา กำหนดให้ประเทศผู้ผลิตน้ำยางและไม้ยางพาราต้องผ่านมาตรฐานสากลการจัดการสวนป่าที่ยั่งยืน หากประเทศผู้ส่งออกรายใดไม่ผ่านมาตรฐานนี้ มีความเสี่ยงที่ลูกค้ารายใหญ่ของโลกจะไม่ซื้อจึงเกิดขึ้น

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ดังนั้น กยท.จะเร่งส่งเสริมชาวสวนยางให้ยกระดับสวนยางให้ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้ชาวสวนขายยางได้ราคาสูงและมีความยั่งยืน ผู้บริหารมิชลินและผู้ผลิตยางล้อที่เข้ามาพบกับ กยท. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่างเสนอรับซื้อยางพาราที่ได้มาตรฐานสากลในราคาสูงกว่าตลาดมาก แต่มีเงื่อนไขไทยต้องผลิตยางพาราที่ได้มาตรฐานจำนวนมากเพียงพอและสม่ำเสมอกับการป้อนโรงงานให้ได้ตามกำลังการผลิตที่ต้องการ

“มาตรฐานที่ผู้รับซื้อยางพาราจะยอมรับได้ต้องเป็นมาตรฐานสากล ได้แก่ มาตรฐานสากลการจัดการสวนป่าที่ยั่งยืนทั้ง Forest Stewardship Council (FSC) หรือ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) มาตรฐานที่กำหนดในประเทศผู้รับซื้อยางพารา จะถือเป็นอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้าก็ได้ หรือจะมองว่าเป็นโอกาสก็ได้ เพราะหากยางพาราสวนที่ได้รับมาตรฐานสากลข้างต้น นอกจากจะส่งออกได้มากขึ้น ราคายังจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าราคายางปกติประมาณ 30-40%”

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายณกรณ์กล่าวว่า ขณะนี้ไทยผลิตยางพาราได้มาตรฐานสากล การจัดการสวนป่าที่ยั่งยืนทั้ง (FSC) ประมาณ 1 แสนไร่ จากพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมดทั่วประเทศประมาณ 20 ล้านไร่ จึงถือเป็นโอกาสที่ท้าทายมาก

กยท.จึงได้เชิญเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ส่งออกมาหารือถึงแนวโน้มและความต้องการยางพาราในตลาดโลก พร้อมกติกาใหม่ของผู้รับซื้อยางพารา โดยเฉพาะผู้ผลิตยางล้อของโลก ซึ่งทุกภาคส่วนยินดีที่จะร่วมพัฒนายางพาราของไทยให้ได้มาตรฐาน ตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่ออนาคตการส่งออกและราคาที่เพิ่มขึ้น


“กยท.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนชาวสวนยาง ให้พัฒนายางพาราไทยให้ได้มาตรฐาน เตรียมดำเนินการสร้างแรงจูงใจให้กับชาวสวน เพื่อยกระดับสวนยางธรรมดาให้เป็นสวนยางได้มาตรฐาน FSC มีเป้าหมายดำเนินการยกระดับสวนยางให้ได้มาตรฐาน FSC สัดส่วน 50% ของพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ หรือประมาณ 10 ล้านไร่ เพื่อให้สามารถผลิตยางพาราในปริมาณที่สม่ำเสมอให้กับผู้ซื้อ”