นักวิจัยเผยวิกฤตและโอกาส ที่นอน-หมอนยางพาราไทย ส่งออกไปจีน

ยางพารา
ภาพจาก:ซินหัว

นักวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหิดล เผยผู้ผลิตที่นอน-หมอนยางพาราไทย ยังเผชิญปัญหาและอุปสรรครอบด้านตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แนะ 3 แนวทางปรับตัวโอกาสส่งออกจีน 

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยแพร่ผลการศึกษาภาพรวมของโซ่อุปทานการส่งออกที่นอนและหมอนยางพาราของประเทศไทย ไปยังประเทศจีนตอนใต้ ของ ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และ ดร.สุเทพ นิ่มสาย จากวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในกลุ่มนักวิจัยที่มีผลงานด้านการค้าไทย-จีน โดยระบุว่า 

ที่นอนและหมอนยางพารา นับเป็นสินค้าไทยที่ครองใจผู้บริโภคชาวจีนมานานแล้ว โดยนับเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามในมหกรรมช็อปปิ้งระดับโลก 11.11 บนแพลตฟอร์ม ทีมอลล์ โกลบอล ของอาลีบาบา ทั้งในปี 2563 และปี 2564 โดยจะเห็นว่า 10 อันดับแบรนด์ไทยที่ขายดีที่สุดในช่วง 11.11 ของทีมอลล์ กว่าครึ่งเป็นแบรนด์ที่ขายสินค้าจากยางพารา 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ส่งออกยางพาราไทยในปัจจุบันดูจะไม่ค่อยสู้ดีนัก หลังพิษเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งยังเจอวิกฤตน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตยางพาราของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยมีการการส่งออกที่นอนและหมอนยางพาราไปยังจีนตอนใต้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ เส้นทางบก (ทางรถ) และทางน้ำ ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสงขลา จากนั้นผู้นำเข้าจะกระจายสินค้าไปยังตลาดปลายทาง ณ หัวเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน

ที่นอนยางพารา DPU

ปัญหาและอุปสรรคจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ทั้งนี้ ดร.ภูมิพัฒณ์ และ ดร.สุเทพ เผยว่าจากศึกษาพบว่าปัจจุบันสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตที่นอนและหมอนยางพาราของประเทศไทยยังมีปัญหาและอุปสรรค ซึ่งสามารถจำแนกตามอุตสาหกรรมขั้นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้

อุตสาหกรรมต้นน้ำ ปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ คุณภาพของน้ำยางข้นจากโรงงานไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากมีปัจจัยด้านฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยน้ำยางสดที่กรีดในฤดูฝนจะมีเปอร์เซ็นต์ของน้ำเยอะมากกว่าปกติ

อุตสาหกรรมกลางน้ำ ปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ 1) มาตรฐานการผลิตที่นอนและหมอนยางพาราของสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนแต่ละที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านคุณภาพ และเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีในการผลิต อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

2) ปัญหาคุณภาพการผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนมีการใช้แรงงานในการผลิตเป็นหลัก ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการผลิตได้ อาทิ การเทน้ำยางข้นลงในแม่พิมพ์ โดยใช้แรงงานจะทำให้เกิดความล่าช้าในการเทน้ำยางลงแม่พิมพ์เนื่องจากน้ำยางข้นเซตตัวเร็ว 

3) สหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำยางข้นด้วยตัวเอง เนื่องจากต้องใช้จำนวนเงินลงทุนสูง ซึ่งหากสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตน้ำยางข้นด้วยตัวเองได้จะสามารถลดต้นทุนการผลิตที่นอนและหมอนยางพาราได้ 

4) สภาพอากาศและอุณหภูมิที่ร้อนเกินไปส่งผลกระทบต่อการผลิต โดยทำให้การตีน้ำยางข้นร่วมกับสารเคมีไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

อุตสาหกรรมปลายน้ำ ปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ 1) ที่นอนและหมอนยางพารามีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับที่นอนและหมอนทั่วไป อีกทั้งมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ประมาณ 6-7 ปี ทำให้อุปสงค์ต่อที่นอนและหมอนยางพาราต่ำ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความต้องการที่แตกต่างกัน 

2) มีการแข่งขันจากนักลงทุนชาวจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตที่นอนและหมอนยางพาราขนาดใหญ่ในไทย ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นหลัก จึงสามารถขายที่นอนและหมอนยางพาราได้ในราคาต่ำกว่าสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน 

3) ขาดนโยบายการส่งเสริมด้านการตลาดและการใช้ที่นอนและหมอนยางพาราในประเทศ อาทิ การโฆษณาที่นอนและหมอนยางพาราของไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

โอกาสผู้ผลิตไทย

อย่างไรก็ตาม สองนักวิจัยยังกล่าวอีกว่ากระแสผู้บริโภคชาวจีนที่มองหาสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น ยังคงเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่นอนและหมอนยางพาราไทย แม้จะมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้นก็ตาม โดยแนวทางในการปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ผู้เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานอุตสาหกรรมที่นอนและหมอนยางพาราของไทย ได้แก่ 

1.เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ ควรมีการรวมกลุ่มให้เป็น smart farm เพื่อการผลิตน้ำยางคุณภาพสูง-ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีการจัด zoning พื้นที่ผลิตที่เหมาะสมกับทรัพยากรในท้องถิ่นและตลาดรับซื้อ 

2.พ่อค้าคนกลาง/จุดรับซื้อ และโรงงานแปรรูปในท้องถิ่น ควรมีมาตรฐานกลางที่ใช้ในการซื้อขาย มีการส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาจุดรับซื้อ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ 

3.โรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาโซ่คุณค่า ศึกษาความต้องการของตลาด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละตลาด