หนุนเมล็ดพันธุ์คุณภาพ หัวใจความมั่นคงทางอาหาร

เมล็ดพันธุ์

“ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นประเด็นที่ทุกเวทีโลกหยิบยกขึ้นมาหารือ หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน ชีวิต รวมถึงระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงวิกฤตภาคการเกษตร พื้นที่เพาะปลูก แหล่งต้นน้ำวัตถุดิบของหลาย ๆ อุตสาหกรรม

ไทยเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งในภาคเกษตร ขับเคลื่อนนโยบาย “ครัวของโลก” โดยอาศัยความได้เปรียบของภูมิศาสตร์และอากาศที่ร้อนชื้น ทำให้ไทยเป็นแหล่งเพาะ “เมล็ดพันธุ์คุณภาพ” ที่ใหญ่และดีที่สุดของโลก หรืออาจเรียกว่าเป็นแชมป์ผลิตเมล็ดพันธุ์เขตร้อน

ในงานประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ประธานคณะกรรมการ สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และสมาชิกของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (APSA) กล่าวว่า เป็นที่รู้กันน้อยมากว่าเกษตรกรไทยนั้น มีความชำนาญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของโลก

“สกลนครและขอนแก่น” คือพื้นที่ที่ใช้เพาะพันธุ์เมล็ดที่ดีที่สุด โดยได้ความร่วมมือในการช่วยเรื่องการวิจัย รับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เรื่อยมา ในที่สุดไทยสามารถส่งออกเมล็ดพันธุ์คิดเป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทแทบทุก ๆ ปี

“หากดูจากห่วงโซ่ของภาคการผลิตแล้วย้อนกลับไปที่ต้นน้ำ การจะมีพืชเกษตรที่มีคุณภาพ ส่งออกได้ นั่นเพราะการมีเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพเช่นเดียวกัน จึงไม่แปลกหากไทยมีต้นทุนของต้นน้ำที่ดี ระหว่างทางกลางน้ำมีระบบการรักษา กักเก็บเมล็ดพันธุ์ไม่ให้สูญเสียไปกับโรคศัตรูพืช

และมีปริมาณที่เพียงพอ ปลายทางก็คืออาหารชั้นเลิศ มันคือความมั่นคงของทรัพยากรของอาหาร ที่จะป้อนให้ทั่วโลก คือความพร้อมในทุกด้าน ทำให้ปี 2565 นี้ไทยได้ครองแชมป์ผลิตเมล็ดพันธุ์เขตร้อนไว้ได้ เป้าหมายต่อไปคือการผลักดันไปสู่ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”

ส่งออก 15,000 ล้านบาท

นางบุญญานาถ นาถวงษ์ นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) เปิดเผยถึงข้อมูลว่า ไทยได้เป็นศูนย์กลางของเมล็ดพันธุ์เขตร้อน ปี 2564 มีการส่งออกเมล็ดพันธุ์พืช (ยกเว้นเมล็ดพันธุ์ข้าว) อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท

สำหรับเมล็ดพันธุ์สำคัญที่ไทยผลิตได้สูงสุดจะเป็นเมล็ดพันธุ์พืชไร่ เช่น ข้าวโพด เมล็ดพันธุ์ผัก เช่น มะเขือเทศ และเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง แม้มูลค่าการเพาะเมล็ดพันธุ์จะไม่ได้สูงถึงแสนล้านบาท แต่เมล็ดพันธุ์จากไทยได้รับการยอมรับว่าสูงกว่ามาตรฐานสากล และสูงกว่ามาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรไปแล้วเรียบร้อย

“ปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกเมล็ดพันธุ์ 15,000 ล้านบาทหรือเติบโต 10-15% จากความต้องการเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น เพียงเพราะแต่ละประเทศกำลังหวั่นไหวกับวัตถุดิบ การขาดแคลนอาหาร จึงไม่ยากที่ไทยจะรักษาแชมป์นี้ต่อไปเรื่อย ๆ และเมื่อมูลค่าและการส่งออกเพิ่มขึ้น จะทำให้พื้นที่ 2 จังหวัดสกลนครและขอนแก่นไม่เพียงพอต่อการขยายพื้นที่เพาะเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นจะขยายพื้นที่เพิ่มในเร็ว ๆ นี้แน่นอน”

เปิดทางเอกชนรับรองพันธุ์พืช

จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่เอกชนเท่านั้นที่ขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว แต่หน่วยงานภาครัฐกลับเป็นกำลังสำคัญยิ่งกว่า ที่เข้ามาช่วยทั้งงบประมาณ ห้องรับรอง ตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคพืช แม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยีจีโนมในการวินิจฉัย ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ลูกผสม ทั้งหมดก็เพื่อจับมือกันเดินหน้าสู่นโยบาย seed hub โดยการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เกิดการทำงานร่วมกันที่เรียกว่า seed cluster

“นายศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร” รองผู้อำนวยการ (ด้านบริหารการวิจัยและพัฒนา) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า งบประมาณที่มี 5,000 ล้านบาท นำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ใน 4 เรื่อง และหนึ่งในเรื่องสำคัญคือด้านเกษตร ที่จะใช้ทั้งการปรับปรุงและวิจัยพันธุ์พืช

ในขณะที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดแผนแม่บทยุทธศาสตร์พืชเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ ข้าวโพดและผัก และแผนแม่บทยุทธศาสตร์พืชเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ ข้าว พืชไร่ พืชอาหารสัตว์ และพืชบำรุงดิน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีจุลินทรีย์ เคลือบเมล็ดพันธุ์พืชก่อนปลูก ส่งผลให้พืชแข็งแรง มีความทนทานต่อแมลงศัตรูพืชและสภาพภูมิอากาศดีขึ้น

รวมถึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาช่วยตรวจรับรองเมล็ดพันธุ์ ซึ่งการให้บทบาทภาคเอกชนหรือองค์กรต่าง ๆ รวมถึงภาคมหาวิทยาลัย จะเร่งช่วยผลักดันให้ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางรับรองเมล็ดพันธุ์