มนัญญาลั่นส่งออกผลไม้ไทยแสนล้านไม่สะดุด เปลี่ยน GAP ใหม่ครบ 100%

ทุเรียน

มนัญญา แจ้งข่าวดี กรมวิชาการเกษตรเปลี่ยนใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศแล้ว มั่นใจการส่งออกผลไม้ไทยแสนล้านไม่สะดุด

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานพืชสวนก้าวหน้า ครั้งที่ 17 (Hortex 2022) & Fruitpital Innovation Fair 2020 มหานครผลไม้ ณ สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ต.ตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคม 2565

ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเปลี่ยนใบรับรองแปลงการเกษตรที่ดี (GAP) เป็นรหัสรับรองรูปแบบใหม่ให้กับพืชทุกชนิดในระบบ GAP (รวมผลไม้ส่งออกไปจีน 13 ชนิด) ครบ 100% ทั่วประเทศแล้ว ซึ่งเสร็จเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เกือบ 1 เดือน นอกจากนั้นได้ให้นโยบายกับกรมวิชาการเกษตรให้ทำแผนปฏิบัติการกำกับและติดตามเพื่อรับมือผลไม้ฤดูการผลิตปี 2566 ตลอดห่วงโซ่การผลิตทันที เพื่อให้มีแนวปฏิบัติล่วงหน้า 6 เดือน ก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด

มนัญญา ไทยเศรษฐ์
มนัญญา ไทยเศรษฐ์

“วันนี้ขอแจ้งข่าวดีให้กับพี่น้องเกษตรกรและผู้ส่งออกที่มีความกังวลเรื่องการรับรองแปลงรหัสใหม่ที่อาจไม่ทันฤดูกาลส่งออกผลไม้ ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรสามารถรับรองครบหมด 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว และจะส่งให้ทางศุลกากรจีนเพื่อรับทราบผลการดำเนินการทันที และในช่วงฤดูผลไม้ออกมาก ๆ กรมวิชาการเกษตรจะระดมเจ้าหน้าที่ช่วยในการตรวจพืชตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผลไม้ที่ออกสู่ตลาด

อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ตัดทุเรียนอ่อน หรือยินยอมให้มีการสวมสิทธิแปลง GAP เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ได้กำชับเข้มข้นในเรื่องนี้และจะไม่ปล่อยผ่านเด็ดขาด เพื่อรักษาชื่อเสียงทุเรียนไทย

ทั้งนี้ ได้นำเรียนผลความคืบหน้าการดำเนินงาน ให้กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบต่อเนื่องด้วยแล้ว และในปีหน้ากระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพผลไม้เพื่อเพิ่มยอดส่งออกให้ได้มากกว่า 1.5 แสนล้านบาท” รมช.มนัญญากล่าว

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พืชทุกชนิดในระบบที่ได้รับรอง GAP มี 299,076 แปลง จำนวนเกษตรกร 185,808 ราย พื้นที่รวม 1,860,454.31 ไร่ ได้เปลี่ยนใบรับรอง GAP เป็นรหัสรับรองรูปแบบใหม่ครบ 100% แล้ว

โดยในจำนวนนี้ 62% เป็นใบรับรอง GAP ของผลไม้ที่ส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนให้กับประเทศจีนแล้ว 13 ชนิด (มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ชมพู่ มะพร้าว กล้วย สับปะรด ขนุน เงาะ ส้มโอ และมะขาม) ที่มีจำนวนแปลง GAP ทั้งหมด 185,803 แปลง จำนวนเกษตรกร 167,027 ราย พื้นที่รวม 1,566,420 ไร่

ซึ่งการปรับรหัสใหม่นี้ นอกจากจะใช้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนแล้ว ยังสามารถใช้กับการส่งออกกับทุกประเทศทั่วโลก และกรมวิชาการเกษตรขอยืนยันว่า แปลงพืชเหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐาน GAP (มกษ. 9001) ซึ่งเท่าเทียมกับ ASEAN GAP ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก

สำหรับใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่พืชที่ส่งออกไปจีน กรมวิชาการเกษตร ได้ประสานสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) เพื่อจัดส่งเลขทะเบียนแปลง GAP รหัสใหม่ รวมถึงการขึ้นทะเบียนแปลงและโรงคัดบรรจุที่ส่งออกไปจีน ให้สำนักงานศุลกากรจีน อัพเดตข้อมูลรหัส GAP ใหม่ดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงเวียนข้อมูลให้กับด่านนำเข้าต่าง ๆ ภายในประเทศจีนเพื่อรองรับฤดูกาลส่งออกผลไม้ใหม่ให้ทันตามกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนและลำไยที่จะเริ่มมีผลผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

อีกทั้งกรมวิชาการเกษตรได้ประสานกับอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ช่วยติดตามเรื่องนี้กับฝ่ายจีนอย่างใกล้ชิด นำไปสู่การส่งออกผลไม้ไทยคุณภาพที่ราบรื่นสร้างรายได้ทะลุแสนล้านต่อเนื่อง ซึ่งใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่นี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต

โดยจะระบุรหัสหน่วยรับรอง รหัสมาตรฐานการผลิต รหัสผู้ได้รับการรับรอง และมีรหัสจังหวัด รหัสชนิดขอบข่ายเพิ่มขึ้นมา ทำให้การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ตามประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สร้างความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้าที่ต้องการนำเข้าสินค้าที่มีคุณภาพความปลอดภัย และตรวจสอบที่มาแหล่งผลิตได้ เสริมสร้างการส่งออกให้เป็นไปอย่างยั่งยืน มุ่งเป้า ผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพของโลก

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565 กรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดงานสัมมนา “ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ” (Premium Thai Durian) โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ เป็นประธาน พร้อมด้วย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 250 คน

ได้แก่ ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ และตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปจีน เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดของไทยเข้าใจในการผลักดันนโยบาย ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian) และได้รับความรู้ความเข้าใจ สามารถแสดงข้อมูลประกอบการยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืชได้อย่างถูกต้อง เข้าใจในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ และรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ

ทั้งนี้ สถิติการส่งออกผลไม้ไทยที่ได้รับใบรับรองสุขอนามัยพืชไปจีน จากกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน 2565 ไทยส่งออกผลไม้ไทยไปจีนรวม 87,730 ชิปเมนต์ จำนวน 1,628,943.70 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 116,978 ล้านบาท เป็นทุเรียนเกือบ 100,000 ล้านบาท ซึ่งปี 2564 การส่งออกทุเรียนสดไปจีน จำนวน 875,097 ตัน คิดเป็นมูลค่า 109,205 ล้านบาท ขยายตัว 68.4%

สำหรับงานพืชสวนก้าวหน้า ครั้งที่ 17 จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน วัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอวิทยาการความรู้ และข้อมูลใหม่ ๆ ในวงการพืชสวน ภายในงานมีการจัดนิทรรศการทางวิชาการ การประชุมสัมมนา การแสดงสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านการเกษตร การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมที่ทันสมัยในการทำสวนทุเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การลดต้นทุนในการผลิต รวมทั้งมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการรับสมัครขึ้นทะเบียน GAP

ทุเรียน