มนัญญา นำทีมรัฐ-เอกชน เยือน สปป.ลาว MOU ด้านเกษตร

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์

มนัญญา นำคณะรัฐ-เอกชน เยือน สปป.ลาว กระชับความสัมพันธ์เดินหน้าทำ MOU ความร่วมมือด้านการเกษตร เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ หนุนส่งออกสินค้าเกษตรโต 6 แสนล้านบาท

วันที่ 25 มกราคม 2566 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยก่อนนำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชนเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 25-28 มกราคม 2566 ว่า

การเดินทางครั้งนี้เพื่อหารือความร่วมมือด้านการเกษตร ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว

 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์

การเดินทางครั้งนี้เป็นโอกาสดีของเกษตรกร และผู้ส่งออกของไทยที่ได้ร่วมเดินทางด้วย ที่จะได้รับทราบปัญหาที่ด่านของชายแดนลาว เพื่อนำมาแก้ปัญหาการแออัดที่ด่านไทย ลดความล่าช้าในการส่งออก ทั้งนี้ จะหารือในประเด็นที่สำคัญ อาทิ ระบบโลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกทางการค้า ทั้งทางบกและทางอากาศ การพัฒนาความร่วมมือด้านสุขอนามัยพืชไทย-ลาว เพื่อป้องกันโรคและศัตรูพืชในสินค้าเกษตรที่สำคัญ

โดยมีเป้าหมายจัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย-ลาว (Working Group) ด้านวิชาการเกษตรและกักกันพืช ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน อีกทั้งจะมีการหารือในเรื่องการนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรไปขยายผลในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซ้อน-ห้วยซั้ว ใน สปป.ลาว อีกด้วย

โดยเชื่อว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ทั้ง 2 ประเทศ ได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ที่ไทยมองว่า เป็นเส้นทางหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่จะขยายโอกาสให้สินค้าจากไทยส่งออกไปยังจีนได้มากขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องทำงานร่วมกัน ในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“ไทย-สปป.ลาว มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถส่งสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีนได้โดยตรง ต้องผ่าน สปป.ลาวก่อน ดังนั้นหากมีอุปสรรคติดขัดในจุดนี้จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรไทยอย่างมาก ซึ่งไม่ได้มองว่า สปป.ลาวเป็นทางผ่าน แต่มองว่าเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่จะขยายสินค้าจากไทยไปยังจีน”

การเดินทางครั้งนี้ ตนมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ รัฐมนตรีกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ของ สปป.ลาว อีกด้วย เพื่อเปิดโอกาสหารือโครงการร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตรและกรมปลูกฝังของลาว ซึ่งจะมีความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยพืช การอำนวยความสะดวกทางการค้า การจัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย-ลาว (Working Group) ด้านวิชาการเกษตรและการกักกันพืช โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ โครงการศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรมแขวงสะหวันนะเขต โครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซ้อน-ห้วยซั้ว โดยการนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรไปขยายผลสู่พื้นที่เป้าหมาย

สำหรับ สปป.ลาวเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 18 ของไทย โดยในปี 2565 ไทย-ลาว มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนรวมสินค้าทุกประเภท ทั้งหมดรวม 5.5 แสนล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ ตัวเลขการส่งออกด่านชายแดนไทย-ลาว จะเพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท จากยอดการส่งออกสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50,000-60,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2562-2564 อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท

ด่านศุลกากรที่สำคัญอันดับ 1 คือ ด่านมุกดาหาร มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกและนำเข้าถึง 2.24 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ด่านหนองคาย นครพนม และด่านเชียงของ ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมสินค้าเกษตรในการค้าชายแดนและผ่านแดนทางบก ไทย-สปป. ลาว (ม.ค.-พ.ย. 2565) ในปี 2565 ไทย-ลาว มีมูลค่าการค้าชายแดน (สินค้าเกษตรที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช) ส่งออก ปริมาณรวม 1.1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3.5 พันล้านบาท

โดยมีสินค้าเกษตรส่งออกไปลาวที่สำคัญคือ ไม้และผลิตภัณฑ์ กากและของเหลือจากพืช อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์ ข้าว ผลไม้สด เป็นต้น สำหรับการส่งออกผ่านแดนจากลาวไปจีน (สินค้าเกษตรที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช) มีปริมาณรวม 8.06 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 5.66 หมื่นล้านบาท ผ่านด่านตรวจพืชเชียงของ ด่านตรวจพืชนครพนม ด่านตรวจพืชมุกดาหาร และด่านตรวจพืชหนองคาย ตามลำดับ