การค้าไทย-ตุรกี 6.2 หมื่นล้าน “รถยนต์-ยาง-แอร์” ส่งออกท็อป 

ส่งออก
Photo : Pixabay

ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีและซีเรีย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 อย่างรุนแรงขนาด 7.5 แมกนิจูด ส่งผลให้มีจำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตมากทะลุ 10,000 รายไปแล้ว

ขณะที่การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากนานาชาติรวมถึงไทยกำลังทยอยเข้าไปสมทบ แต่เชื่อว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจหลังจากนี้ยังต้องจับตามองอย่างมาก

ไทยได้ดุลการค้าตุรกี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการค้าระหว่างไทย-ตุรกี ในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าทั้งสองประเทศมียอดการค้าระหว่างกัน 62,638 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังตุรกีมูลค่า 42,580.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.52% จากปี 2564 ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากตุรกีเท่ากับ 13,449.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.91% โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจากตุรกี 29,131 ล้านบาท

ท็อปสินค้านำเข้า-ส่งออก

สำหรับประเภทสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก อุปกรณ์ กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เส้นใยประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ น้ำตาลทราย ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง

ส่วนสินค้านำเข้าจากตุรกี 10 อันดับแรก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับอัญมณี พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

ขณะที่มูลค่าการค้าไทย-ซีเรียไม่เป็นที่ปรากฏ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนหน้านี้ชาติพันธมิตรในสหรัฐและสหภาพยุโรปได้มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรการค้ากับซีเรีย

ส่งออกยาง

นายกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยส่งออกยางไปตุรกีน้อยมาก จึงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ใกล้พรมแดนซีเรีย ในขณะที่ลูกค้าอยู่ภาคกลาง นครอิสตัลบูล จึงไม่ได้รับผลกระทบ

นายกรกฎ กิตติพล ผู้จัดการด้านการตลาด บริษัท ไทยฮั้วยางพารา ฝ่ายขายต่างประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบทางตรง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่อยู่ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งเราก็สอบถามลูกค้าทุกวันยังปกติ ชิปเมนต์ปกติทุกคนปลอดภัยดี พอร์ตท่าเรือของตุรกียังไม่ปิด แต่ยอมรับว่าได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากเมืองกาเซียนเทป (Gazientep) ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนซีเรีย เป็นพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผลิตพรมเปอร์เซีย พรมตุรกี ซึ่งมีโรงงานเล็ก ๆ หรือ SME หลายแห่ง

โรงงานเหล่านี้จะซื้อน้ำยางเป็นส่วนผสมในการทำพรม แต่ใช้ประมาณไม่มากนัก 1 เดือน/ตู้ อย่างไรก็ดี ภาพรวมไม่ได้กระทบปริมาณ มูลค่า ทางบริษัทติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอส่งกำลังใจให้ลูกค้าและชาวตุรกีปลอดภัย