พาณิชย์อัดงบ 1.8 พันล้าน ยกระดับการแข่งขัน-ดันส่งออกโต 2%

ส่งออก-นำเข้า

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทุ่มงบฯ 1,800 ล้านบาท เตรียม 195 แผนงาน ผลักดันส่งออกไทยปี 2566 โต 1-2% เดินหน้าขยายตลาดที่มีศักยภาพทั้ง “ตะวันออกกลาง-เอเชียใต้-จีน-CLMV” พร้อมวางเป้ายกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน ติด 1 ใน 5 ของเอเชีย ในปี 2570

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้กำหนดวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะผลักดันความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย เป็น 1 ใน 5 ของเอเชีย ภายในปี 2570 โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ สถาบัน IMD อยู่ที่ 8 และอยู่ที่อันดับที่ 9 ด้านมูลค่าการส่งออกในเอเชีย

“เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถอย่างมาก เพราะนอกจากที่เราจะต้องแข่งกับคู่แข่งที่อยู่ในอันดับที่ 5 แล้วก็ยังต้องแข่งขันกับหลายประเทศที่พยายามจะผลักดันขีดความสามารถด้านการแข่งขันและการส่งออกด้วย รวมไปถึงปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง”

โดยอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ไทยอยู่อันดับ 8 จากอันดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ รองลงมา ฮ่องกง มาเลเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนด้านมูลค่าการส่งออก ไทยอยู่อันดับที่ 9 อันดับที่ 1 คือ จีนและฮ่องกง รองลงมา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย

นายภูสิตกล่าวว่า แผนผลักดันการส่งออกของไทยในปี 2566 ภายหลังจากที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้หารือกับภาคเอกชนและตั้งเป้าหมายส่งออกไทยโต 1-2% หรือมีมูลค่า 289,937-292,808 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากจะให้ไทยส่งออกทั้งปีโต 1% จะต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 24,161 ล้านเหรียญสหรัฐ หากจะส่งออกโต 2% เฉลี่ยต่อเดือน ต้องอยู่ที่ 24,400 ล้านเหรียญสหรัฐ คำนวณจากค่าเงินบาทที่ 34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“เป้าหมายการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตัวเลขการส่งออกที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะหากดูการส่งออกเฉลี่ยย้อนหลังไป 5 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2561 ไทยส่งออกดีสุดแค่เกือบ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่และดีสุดอยู่ที่ 22,922 ล้านเหรียญสหรัฐ”

สำหรับแผนการผลักดันให้การส่งออกเติบโตไปได้ตามเป้าหมายมี 195 แผนงาน และ 450 กิจกรรมย่อย ภายใต้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมได้มอบหมายสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) 58 แห่ง ประเมินสถานการณ์รายตลาด ถึงการกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมการส่งออก เพื่อที่จะวางแผนการส่งออกในปีนี้ให้ได้ตามเป้าหมาย พร้อมทั้งการร่วมหารือกับภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนอย่างสิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณีที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายส่งออกสินค้ารายสำคัญไว้ 12 กลุ่ม เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อาหาร ยานยนต์ ชิ้นส่วน และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ที่จะเดินหน้าผลักดันการส่งออกให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ การขยายตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง เพิ่มมูลค่าส่งออกโต 20% เอเชียใต้ เพิ่มมูลค่าส่งออกโต 10% จีน เพิ่ม 1% จากปีที่ผ่านมา ติดลบ 7% ตลาด CLMV เพิ่ม 15% ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ยังคงรักษาตลาดไว้ โดยปีนี้ IMF จะประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างจะชะลอตัว แต่ยังเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยที่ต้องรักษาไว้ ส่วนตลาดใหม่ที่จะต้องขยายโอกาสทางการค้า การส่งออกให้มากขึ้น เช่น ตลาดนอร์ดิก อาทิ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ เป็นต้น ก็จะพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ส่งออกก่อนที่จะผลักดันการส่งออกต่อไป

“การส่งออกปี 2566 นี้ ยังเห็นโอกาสการเติบโต และสินค้าที่ยังเป็นโอกาส เช่น อาหาร กลุ่มอุตสาหกรรม และแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรก การสั่งซื้ออาจจะชะลอตัวบ้าง เนื่องจากผู้นำเข้าเร่งสั่งซื้อไปก่อนตั้งแต่โควิด ยังมีสต๊อกสินค้าคงเหลืออยู่ แต่เชื่อว่าความต้องการสินค้าและโอกาสของไทยยังคงทำให้การส่งออกทั้งปีโตได้ตามเป้าหมาย”