กนง.ห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอ-จีนเปิดประเทศเร็ว กระทบส่งออก เงินเฟ้อพุ่ง

เศรษฐกิจ ส่งออก
ภาพจาก AFP

ธปท. เปิดรายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อ เผยเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยว ห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอ-การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกระทบภาคการส่งออกไทยปี 2566 ก่อนกลับมาฟื้นตัวปี 2567 พร้อมเกาะติดความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากจีนเปิดประเทศเร็ว-แรง กดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ มั่นใจนโยบายการเงินยังเหมาะสม ยันพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 20 และ 25 มกราคม 2566 โดยมีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางรุ่ง มัลลิกะมาส นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์

ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ ในขณะที่แรงขับเคลื่อนที่มาจากการส่งออกสินค้าจะชะลอลง เทียบกับปีก่อนหน้า การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการ รวมถึงการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างและผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของภาคครัวเรือนและส่งผลทวีคูณ (multiplier effect) ต่อการบริโภคภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกันเงินเฟ้อจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ คณะกรรมการจึงเห็นควรให้ติดตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มีโอกาสกลับมามากและเร็วกว่าคาด รวมถึงติดตามโอกาสที่จะเกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการของไทย ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อ ค่าจ้างในสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องชั่วคราว นอกจากนี้กรรมการบางส่วนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเพียงแรงเดียวของเศรษฐกิจ เนื่องจากอาจส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

โดยคณะกรรมการแสดงความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตของภาคการส่งออกสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มชะลอตัว ในปี 2566 ส่วนหนึ่งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและการเปิดประเทศของจีนจะส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าของไทยในระยะต่อไป การชะลอตัวของการส่งออกสินค้าตามวัฏจักรเศรษฐกิจจึงไม่น่ากังวลนัก

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและไทย ต่อภาคการส่งออกสินค้าไทย อาทิ 1.การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกจากการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization)

2.นโยบายเศรษฐกิจการเงินของบางประเทศ เช่น นโยบายเพิ่มอุปสงค์ ในประเทศและลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (dual circulation strategy) ของจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าหมวดปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ของไทย

3.โครงสร้างการผลิตของไทยที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี เช่น แนวโน้มการเปลี่ยนไปใช้ solid state drive ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก hard disk drive ของไทย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจข้างต้น นอกจากจะมีนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ยังมีนัยต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

คณะกรรมการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง สะท้อนจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะยังมีอยู่ เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง และราคาต้นทุนบางประเภทยังอยู่ในระดับสูง เช่น ราคาพลังงานในประเทศที่อาจปรับลดลงน้อยกว่าราคาพลังงานโลก จากการทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ

อีกทั้งผู้ประกอบการอาจปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการในระยะข้างหน้า หากเห็นว่าภาคครัวเรือนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ และพฤติกรรมการปรับราคาของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด รวมถึงทัศนคติเกี่ยวกับเงินเฟ้อ (inflationary psychology) ที่อาจเปลี่ยนไปจากอดีต และส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลาง

กรรมการบางส่วนยังมีความกังวลต่อฐานะการเงินของกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อย แม้การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและภาคบริการจะช่วยให้รายได้ปรับดีขึ้น แต่กลุ่มข้างต้นมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง รวมถึงต้องเผชิญต้นทุนและค่าครองชีพสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวอาจกระจุกตัวในจังหวัดท่องเที่ยวและแรงงานในสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ รายได้ของแรงงานบางกลุ่ม อาทิ แรงงานภาคการผลิตที่เกี่ยวกับการส่งออกจะถูกกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าในปีนี้ คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามการฟื้นตัวของรายได้และฐานะการเงินของกลุ่มเปราะบาง และผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้อย่างตรงจุด ซึ่งมีประสิทธิผลมากกว่านโยบายการเงินที่เป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง (blunt tool)

คณะกรรมการเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมปรับขนาด และเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ (gradual and measured policy normalization) เป็นแนวทางที่เหมาะสม การทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาช่วยให้ภาวะการเงินไม่ตึงตัวมากเกินไป ปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ของภาคเอกชนยังขยายตัว รวมถึงช่วยบรรเทาผลกระทบบางส่วนต่อภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปมีความท้าทายมากขึ้น นโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการดูแลเงินเฟ้อที่อาจมีแรงกดดันด้านอุปสงค์มากขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบาง โดยคณะกรรมการพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี คณะกรรมการเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภค ภาคเอกชนได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัวในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง และมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์และการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น ด้านระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น จึงเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปีในการประชุมครั้งนี้

คณะกรรมการเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุน และเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น จึงเห็นควรให้ดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการประเมินว่าภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) แต่ปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐในอัตราที่ชะลอลง และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของจีนที่จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย

คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้ เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

โดยต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้