“วีริศ อัมระปาล” กางแผนป้องนิคมรับศึกท่อส่งน้ำ EEC

วีริศ อัมระปาล
สัมภาษณ์พิเศษ

ปมการคืนพื้นที่โครงการประมูลท่อส่งน้ำภาคตะวันออก หรือที่เรียกโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี มูลค่า 2.5 หมื่นล้าน ระหว่าง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด (พันธมิตรของทีมกรุ๊ป-DITTO) ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการดำเนินการท่อน้ำในพื้นที่อีอีซีจากกรมธนารักษ์ และ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ (EASTW) ยังคงไม่ได้ข้อสรุป และมีแนวโน้มที่จะใช้ระยะเวลาการดำเนินการประมาณ 30-180 วันตามแผน ซึ่งจะกินเวลาสู่ช่วงหน้าแล้งปี 2566 อาจจะส่งผลเชื่อมโยงถึงผู้ใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งนั่นคือพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่เป็นการดำเนินการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะผู้ใช้น้ำ และอีกด้าน กนอ.ยังมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้น EASTW รายหนึ่ง มีสัดส่วน 4.57% มากเป็นอันดับ 3 รองจากการประปาส่วนภูมิภาคที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 40.3% และ บจ.มะนิลาวอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถือในสัดส่วน 18.72%

นั่นทำให้การขับเคลื่อนแผนของ EASTW เชื่อมโยงถึง กนอ.อย่างเลี่ยงไม่ได้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายวีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถึงแนวทางการดำเนินงานในช่วงการเปลี่ยนผ่านสัญญาว่า

การดำเนินการตอนนี้

การเตรียมพร้อมของการนิคมฯ ในส่วนของสัญญาระหว่างอีสท์ วอเตอร์ กับวงษ์สยามก็เป็นอย่างที่ทราบคือ 1) กนอ.ถือหุ้นอยู่ ฉะนั้น ในฐานะของผู้ถือหุ้น ผมนั่งอยู่ในบอร์ดของอีสท์ วอเตอร์ ก็มีการรับทราบตลอดเวลา ว่าทางอีสท์ วอเตอร์ มีแนวทางอะไรต่าง ๆ อย่างไรบ้าง แต่ที่ผ่านมาก็พยายามไม่ให้ความเห็นอะไรมาก เพราะว่าระวังเรื่อง conflict of interest แต่สิ่งที่มองเห็นได้คือ ทางอีสท์ วอเตอร์ ก็มีแนวทาง คือพยายามหาแหล่งน้ำเสริมเข้ามา พยายามที่จะมีการเดินท่อระหว่างท่อต่าง ๆ ซึ่งทางอีสท์ วอเตอร์ มั่นใจว่าในปี 2566-2567 จะสามารถซัพพลายน้ำให้ลูกค้าได้

“สิ่งที่ กนอ.ต้อง protect ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลนิคมมาบตาพุดคือ ลูกค้าของเราหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมจะต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการที่มีข้อพิพาทเรื่องของสัญญาของทั้ง 2 บริษัทนี้ ซึ่งเราเห็นว่า 1) อีสท์ วอเตอร์ มีแนวทางในการหาน้ำมาซัพพลายลูกค้าเหมือนเดิม 2) วงษ์สยามก็มีแนวทางเรื่องของอนาคตว่า ถ้าหากว่าได้เป็นกรรมสิทธิ์ในส่วนของเจ้าของท่อก็จะมีการซัพพลายน้ำให้กับพื้นที่

ฉะนั้น จากคำพูดสองประโยคนี้ทำให้ทาง กนอ.มั่นใจว่าผู้ใช้น้ำจะได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากแต่ก่อนมีผู้ซัพพลายน้ำเพียงเจ้าเดียว คืออีสท์ วอเตอร์ ก็จะแบ่งเป็นสองเจ้า ซึ่งมีศักยภาพ ผมจึงมองว่าผลกระทบกับผู้ใช้น้ำในพื้นที่น้อย ฉะนั้น เรื่องผลกระทบผมมองว่าน้อย เรื่องราคาน้ำในเมื่อตัวผู้เล่นเยอะขึ้นราคาน้ำก็คงจะไม่สูงขึ้น เพราะเป็นการแข่งขันทางการตลาด เป็นการเปลี่ยนจากโมโนโพลี่ (monopoly) เป็นการที่มีผู้เข้าแข่งขันเยอะขึ้น อย่างไรซะราคาโดยกลไกธรรมชาติตามกลไกตลาดมันต้องคงที่ หรือไม่ก็ลดลง จึงขอย้ำว่า หนึ่ง เรื่อง stability ไม่ห่วง สอง เรื่องราคาก็ไม่ห่วง”

ลูกค้าในนิคมมาบตาพุด

ปัจจุบันโรงงานในนิคมมาบตาพุดมีประมาณ 100 กว่าโรง จำนวนโรงงานไม่มาก แต่ในจำนวนนี้เป็นโรงงานที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ มูลค่าสิ่งก่อสร้างและเศรษฐกิจต่าง ๆ ในมาบตาพุดคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ฉะนั้น การใช้น้ำในพื้นที่นี้จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะน้ำเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตไฟฟ้า กระบวนการกลั่น ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก

“เราไม่กังวลความขลุกขลักของการเปลี่ยนผ่าน เพราะเหมือนมีคนแข่งกันเขาก็ต้องเอาใจลูกค้าเป็นหลัก เพราะอย่างการนิคมฯของเราเองก็มองว่าลูกค้าเป็นศูนย์กลาง consumer centric ฉะนั้น หากอะไรเกิดความขลุกขลักให้กับลูกค้าเขาก็ต้องระมัดระวังกัน”

กนอ.กางแผนสำรองน้ำ

ขณะเดียวกัน ปีที่ผ่านมา กนอ.ได้หาแหล่งน้ำสำรองเสริมเข้ามาอีก โดยหาจากพื้นที่ต่าง ๆ รอบ ๆ นิคมมาบตาพุด เพราะก็กังวลเรื่องปัญหาภัยแล้งที่เคยเกิดขึ้น ทำให้ตอนนี้มีแหล่งน้ำ 3 แหล่ง โดยเรากำลังเร่งพัฒนากันอยู่ คาดว่าในช่วงกลางปีนี้จะสามารถส่งได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เทียบกับปริมาณการใช้ในพื้นที่ 300,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 1 ใน 3 ก็ถือว่าเป็นบัฟเฟอร์ที่ดีได้

ต่อประเด็นสัดส่วนการใช้น้ำจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น การใช้น้ำของนิคมของ กนอ.ยังเป็นรูปแบบการมิกซ์ ไม่ใช่อีสท์ วอเตอร์ 100% แต่อาจจะมีทั้งอีสท์ วอเตอร์ การประปาฯ แหล่งน้ำดิบของกรมชลฯ ฉะนั้น ตรงนี้เราก็จะมาดูสัดส่วนจากราคาที่แต่ละฝ่ายจะเสนอ การทบทวนสัญญาจะเป็นเรื่องของอนาคต เพราะตอนนี้เรามีสัญญาที่ค่อนข้างจะยืดหยุ่น (flexible) อยู่ คือสัญญาของเรามันไม่ได้หรอกว่าจะต้องซื้อเท่านั้นเท่านี้ มันเปิดโอกาสให้การนิคมฯ สามารถเลือกได้ในส่วนที่เหมาะสม เราก็ยังมีเวลาที่จะดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า

“ผมมองว่าการบริหารจัดการน้ำช่วงแล้ง อยู่ในแผนของสองบริษัทนี้หมดแล้ว หากทั้งสองบริษัทจะต้องแย่งลูกค้า ก็นึกภาพว่าจะต้องมีการแคปเจอร์ดีมานด์ เพื่อที่จะขายซัพพลายของให้หมด ซึ่งทางการนิคมฯของเราก็ระวังพยายามไม่ให้มี conflict of interest และต้องลดความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย เช่น ช่วงส่งผ่านมีไหมที่จะมีการเอาลูกค้าเป็นตัวประกันไม่จ่ายน้ำ เราจะระวังตรงนี้ ก็จะพยายามไม่ให้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามเอาลูกค้าเป็นตัวประกัน และด้วยที่การนิคมฯ มีซัพพลายของเราเองอยู่แล้ว เราก็พยายามที่จะเอาต์ซอร์ซแหล่งที่สามมาเป็นบัฟเฟอร์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา”

การถือหุ้นปรับเปลี่ยน

ในฐานะผู้ถือหุ้นนั้น กนอ. ได้หุ้นมาในราคาพาร์ แรกเริ่มเดิมทีท่อน้ำเป็นของ กนอ. แล้วจากนั้นก็มีมติคณะรัฐมนตรีมอบให้กรมธนารักษ์เอาไปให้การประปาฯดูแล

“หุ้นของ กนอ.ตอนแรกก็ได้ในราคาที่ถูกมาก เพราะฉะนั้นในเรื่องของราคาหุ้นก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ส่วนที่หากว่าจะมีการปรับเปลี่ยนไหม ในอนาคตเราก็คงต้องดู หากบริษัทไหนเข้ามามีผลประโยชน์ในพื้นที่อะไรต่าง ๆ เราก็ต้องขอซื้อหุ้นจากเขาเหมือนกัน เพราะการที่มี 1 เสียงในบอร์ดมันอาจจะไม่ได้ถือว่าเป็นรายได้มหาศาล แต่มันทำให้เรามีส่วนร่วมในการรับรู้แล้วก็กำกับดูแลด้วยลักษณะนั้นมากกว่า”

เท่ากับ กนอ.จะไปซื้อหุ้นวงษ์สยาม

“ผมคิดว่าวงษ์สยามน่าจะยินดี ถ้าหากทาง กนอ.เข้าไปถือหุ้น โดยเนเจอร์เขา วงษ์สยามน่าจะอยากให้ กนอ.เข้าไปถือหุ้นในลักษณะเดียวกันกับที่ กนอ.ถือหุ้นในอีสท์ วอเตอร์ แต่การจะเข้าไป กนอ.ก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอะไรต่าง ๆ อีกระยะหนึ่ง”

ประเมินภาพรวมแล้งนี้

เท่าที่ดูสถานการณ์การจ่ายน้ำและอ่างเก็บน้ำในปัจจุบัน ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บ 70-80% ฉะนั้น สภาพการณ์ของน้ำในปีที่แล้วกับปีนี้ค่อนข้างจะดี ปีนี้ยังถือว่าดี เพราะได้รับอานิสงส์จากปีที่แล้ว ซึ่งในปีที่แล้วปริมาณน้ำมาก แต่ก็ไม่ได้ท่วม และมีฝนตกลงมาทำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ สามารถกักเก็บน้ำได้ในระดับที่สูง

นักลงทุนทะลักปีนี้

เรายังมองว่าปีนี้การลงทุนน่าจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น จากจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย หลังจากที่จีนเริ่มเปิดประเทศ ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีแพลนจะเข้ามาซื้อที่ ซึ่งเราจะต้องดูแลระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคการตัดสินใจลงทุน เช่น ดูแลเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งขั้นแรกเราได้ให้นโยบายกับทางโรงงานให้เฝ้าระวังเรื่องนี้ และมีการตรวจติดตามตลอดเวลา ซึ่งเท่าที่ตรวจอยู่ตอนนี้ไม่ได้มีส่วนจากโรงงาน แต่ไม่ได้นอนใจจะไปดูให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ปัญหาโควิดซึ่งเป็นปัญหาหลักไปแล้ว


นอกจากนี้ จะมุ่งส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่รอบนิคม คาดว่าจะทยอยเพิ่มประมาณ 50 อัตราในปีนี้ เพื่อให้ชุมชนมองว่าเมื่อมีนิคมเข้ามาอยู่ทำให้เกิดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ มีชีวิตที่ดีขึ้น