เมืองใหม่ศูนย์ธุรกิจ EEC เปิดฟังความเห็นเอกชน BDMS-SCG จ้องลงทุน

คณิศ แสงสุพรรณ

อีอีซี ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำ Market Sounding ครั้งที่ 1 เชื่อมการลงทุนศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เผยนักลงทุนรายใหญ่ทั้ง BDMS SCG บ้านปู แบงก์กรุงศรี และโทรคมนาคมแห่งชาติ จ่อโดดเข้าร่วมโครงการเพียบ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาคเอกชนไทยต่าง ๆ ที่มีความสนใจต่อข้อมูลรายละเอียดของโครงการประมาณ 50 คน

โดยการจัด Market Sounding ครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนชั้นนำ ซึ่งได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และมีความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในเครือ BDMS สนใจในด้านการลงทุนธุรกิจการแพทย์

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) สนใจในด้านเทคโนโลยีการเชื่อมโยงระบบอินเทอร์เน็ต (IOT) ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและ MUFG ได้ให้ความสนใจในธุรกิจด้านเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ในพื้นที่โครงการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) สนใจในด้านการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT พร้อมจะสนับสนุนการลงทุนด้านโครงข่ายโทรคมนาคมในพื้นที่โครงการ เป็นต้น โดยอีอีซีจะได้นำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากภาคเอกชนที่ได้รับ เพื่อนำไปประกอบการพัฒนาโครงการต่อไป

ทั้งนี้ โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ได้รับความเห็นชอบจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจ และการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลในพื้นที่อีอีซี และตั้งเป้าหมายเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลก และเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ สำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศ

ซึ่งอีอีซีมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค พัฒนาให้เป็นเมืองธุรกิจควบคู่กรุงเทพฯ ที่มีระบบนิเวศทางธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติ นวัตกรรม และเทคโนโลยี และเป็นเมืองแห่งอนาคตรองรับวิถีชีวิต และการทำงานของคนรุ่นใหม่ และคาดว่าจะเกิดการสร้างงานทางตรงได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนตำแหน่ง มูลค่าจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท และที่อยู่อาศัยของคนทุกกลุ่มในราคาที่เป็นเจ้าของได้ ดึงดูดให้ประชาชนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ คู่ไปกับสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โดยโครงการได้จัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแบ่งโซนตามกลุ่มธุรกิจหลัก แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาคและศูนย์ราชการ 2.ศูนย์กลางการเงิน EEC 3.ศูนย์การแพทย์แม่นยำ 4.ศูนย์การศึกษา วิจัย-พัฒนา ระดับนานาชาติ และ 5.ศูนย์ธุรกิจอนาคต อีกทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่ที่อยู่อาศัยชั้นดีสำหรับคนทุกกลุ่มรายได้

นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ที่เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน อาทิ ระบบไฟฟ้าและพลังงาน ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบจัดการของเสีย ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบดิจิทัล และระบบอุโมงค์สาธารณูปโภค รวมทั้งมีการออกแบบวางผังระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะต่าง ๆ ครบตามเกณฑ์ชี้วัดการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะทั้ง 7 องค์ประกอบ

ได้แก่ Smart Environment, Smart Energy, Smart Mobility, Smart Living, Smart People, Smart Economy, Smart Governance ส่งผลให้มีระบบนิเวศที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวก เอื้อต่อการดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย