กรมเจรจาการค้า ผนึกเอกชนไทย ช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวตุรกี

แผ่นดินไหว ตุรกี
แฟ้มภาพ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ภาคเอกชนไทย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 8 เดือน มี.ค.นี้

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้นำทีมข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บมจ.ซี แวลู บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ บจก.น้ำตาลมิตรผล บจก.เทพผดุงพรมะพร้าว บจก.โตโต้เบด บจก.มวยไทยพลัส กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน กลุ่มบริษัทพัทยาฟู้ด และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ส่งมอบสิ่งของจำเป็น ให้แก่รัฐบาลตุรกี รวมมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท

โดยมีนางแซรัป แอร์ซอย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ จังหวัดคาห์รามันมาราช และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ ได้ร่วมลงนามแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย

สินค้าจำเป็น อาทิ ผ้าห่ม หมวก ถุงมือและถุงเท้า เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม น้ำดื่ม ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และโอ๊ตมีลมัลติเกรนพร้อมแซลมอน

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับตุรกี เนื่องจากพื้นที่ประสบภัยอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ใช่ศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่า โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศของตุรกี และจะไม่กระทบต่อแผนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสองประเทศ ซึ่งไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 8 ในเดือนมีนาคมนี้ ณ กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2567

ทั้งนี้ ตุรกีถือเป็นคู่ค้าและมิตรประเทศสำคัญของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือ และกลุ่มประเทศบอลข่าน โดยในปี 2565 ตุรกีเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 38 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 5 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง สำหรับการค้าระหว่างไทยและตุรกี มีมูลค่า 62,640 ล้านบาท ขยายตัว 20.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยไทยส่งออกไปตุรกี มูลค่า 49,190 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง และไทยนำเข้าจากตุรกี มูลค่า 13,450 ล้านบาท สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับอัญมณี และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว นับเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดของตุรกี มีผู้เสียชีวิต สูญหาย และได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ซึ่งตุรกียังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ เต็นท์ และถุงนอน สำหรับอากาศหนาว โดยขณะนี้ได้ขยายระยะเวลาเปิดรับบริจาคจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ในช่วงเวลา 10.00-12.00 น. ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกี อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ถนนสาทร โทร. 0-2355-5486-9 ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : T.C. Bangkok Büyükelçiliği-Embassy of the Republic of Türkiye in Bangkok