ปตท. ขึ้นแท่นแบรนด์แข็งแกร่งสูงสุดอันดับที่ 24 ของโลก

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ปตท. ติดอันดับมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดและเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดอันดับที่ 24 ของโลก

วันที่ 7 มีนาคม 2566 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้รับการจัดอันดับหนึ่งใน 500 แบรนด์แรกของโลกที่มีมูลค่าสูงสุดกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดอันดับที่ 24 ของโลก จากการประเมินของ Brand Finance Global บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำ ของโลก ตอกย้ำศักยภาพการขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติ

Brand Finance Global ได้ประเมิน ปตท.จากการเติบโตของผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจน้ำมัน รวมถึงการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมและฟื้นฟูการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลของการดำเนินงานที่เด่นชัดดังกล่าว ส่งผลให้เกิดมูลค่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งทัดเทียมแบรนด์ในระดับสากล

Mr.Alex Haigh, Managing Director-Asia Pacific of Brand Finance กล่าวว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้เข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้พลังงานทดแทนในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำด้านพลังงานเห็นถึงความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยปรับกลยุทธ์สู่การดำเนินธุรกิจพลังงานครอบคลุมทุกมิติ บนพื้นฐานของการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

นายอรรถพลกล่าวเพิ่มเติมว่า การติดอันดับองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดและเป็นหนึ่งใน แบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดของโลก นับเป็นความภาคภูมิใจของ ปตท.ที่แสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างแข็งแกร่งในทุกมิติ ภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต

ปตท.พร้อมเป็นพลังสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง โดยมุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและการก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI & Robotics & Digitalization) เป็นต้น