เปิดแผนกลุ่ม ปตท. 7 บริษัท คิดค้น “นวัตกรรม” ป้อนตลาดโลก

PTT

แนวนโยบายนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่ “กลุ่ม ปตท.” ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ 30% ในปี 2573 กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ภายในงานเสวนา Tech Talk ใน “งาน PTT Group Tech & Innovation Day”ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้

นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศชัดเจนว่า กลุ่ม ปตท.ให้ความสำคัญมากกับเรื่องของนวัตกรรม โดยแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผลักดันการสร้างสรรนวัตกรรมด้านพลังงานและเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond

เชิดชัย บุญชูช่วย PTT
เชิดชัย บุญชูช่วย

โดยมีสถาบันนวัตกรรมเป็นหน่วยงานที่คิดค้นนวัตกรรมให้กับกลุ่ม ปตท. ในแต่ละสายธุรกิจ เช่น เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (carbon capture, utilization and storage : CCUS) แบตเตอร์รี่รถ EV พลังงานหมุนเวียน ธุรกิจยา ระบบโลจิสติกส์ หรือแม้แต่ AI ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดทั้ง clean growth business growth และ new growth เป็นการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ตามเป้าหมาย

เร่งจดสิทธิบัตร-ลิขสิทธิ์นวัตกรรม

ด้าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยจะต้องสนับสนุนทุนวิจัยให้มากกว่านี้ ต้องเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงให้มากกว่า 20% และที่สำคัญจะต้องสร้างนวัตกรรมของตัวเอง เพราะปัจจุบันกว่า 95% ต่างชาติเป็นเจ้าของนวัตกรรม เช่นเดียวกันกับการจดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ ที่สินค้าไทยมักจดเมื่อผลิตและวางขายแล้ว ต่างจากต่างประเทศจะเริ่มการจดทั้งสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ตั้งแต่ขั้นตอนการคิดค้น ส่วนประกอบ สูตร ตัวสินค้า แบรนด์ นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบที่จะคุ้มครองสินค้านานนับ 20 ปี ไทยควรคิดก่อนจดก่อนได้เปรียบ เพราะจะเป็นเกราะป้องกันเมื่อก้าวสู่การแข่งขันระดับโลก

เพิ่มพอร์ตพลังงานทดแทน

ดร.รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า โลกพยายามมองหาพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์ และอื่น ๆ เข้ามาช่วยเรื่องของ decarbonization เพื่อนำไปสู่ net zero ในอนาคตพลังงานทดแทนจะมีความสำคัญมากกว่า 80% จะเกิดพลังงานใหม่อย่างไฮโดรเจน CCS แบตเตอรี่ พลังงานลม สมาร์ทกริด ภายในปี 2573 GPSC จึงพยายามดึงสัดส่วนพลังงานทดแทน “green energy มากกว่า 50% เข้ามาไว้ในพอร์ต” และแน่นอนว่าจะเป็นการเริ่มเข้าสู่การบริหารพลังงานให้ได้ด้วยตัวเอง ซื้อขายไฟเอง

ขณะที่ นายจีราวัฒน์ พัฒนสมสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-ด้านธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจนวัตกรรม และดิจิทัล บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ซึ่งก็มองว่าการทำนวัตกรรมจำเป็นต้องทั้งภายในและภายนอก ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ด้วยการลงทุนกับ startup ผ่าน corporate venture capital (CVC) นับเป็นเทคนิคสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือในการตะเวนดูนวัตกรรมได้ทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ไทยออยล์ได้หาโซลูชั่นที่เหมาะสมกับลูกค้า

Advertisment

เช่นเดียวกับ นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยโครงการ ORion บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า นวัตกรรมไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องมีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ OR ได้สร้างทีม Orion ขึ้นมา เพื่อความเร็วในการทำธุรกิจ

เพราะเมื่อต้องเจอกับความผันผวนของโลก ทุกบริษัทกลับมาย้อนดูขีดความสามารถของตนเอง ส่วนหนึ่งในเป้าหมาย EBITDA 20% จากธุรกิจใหม่ในปี 2573 นั้น จะต้องมีส่วนของนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ท่องเที่ยว สุขภาพ และอาหาร

Advertisment

มุ่งสู่ Bio-based-CCUS

ด้าน นายอนุชา สมจิตชอบ รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์นวัตกรรมไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC, Mr.Kamel Ramdani Senior Vice President of Product Innovation and Innovation Management บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ นายพงษ์พันธ์ อุรารุ่งโรจน์ ผู้จัดการอาวุโส สังกัด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารเทคโนโลยี บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP

ทั้ง 3 บริษัทมีเป้าหมายที่ไม่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ได้มุ่งไปเรื่องของการดึงเอาเรื่องของนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการมีกระบวนการที่ดี และต้องดีต่อโลก อย่างผลิตภัณฑ์ของ “GC นับจากนี้คือ bio-based” หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้เอง

ขณะที่ “IRPC มองว่าอุตสาหกรรม New S-Curve ต้องมีนวัตกรรมเข้าไปคลุก” อยู่อย่างแน่นอน และการมีพาร์ตเนอร์ร่วมมือกับหลายองค์กรอย่างมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้สินค้านวัตกรรมใหม่ทั้งในส่วนของ Material Solution และ Energy Solution ส่วน “PTTEP ได้เร่งศึกษา CCUS” ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่จะ transformation ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในอนาคต

นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นของแผนงานด้านนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. เพราะนอกเหนือจากนี้ยังมีรูปธรรมจากบริษัทในเครืออีกมาก ที่ได้ส่งสินค้าจากการต่อยอดและพัฒนาจากนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์โมเลกุลมณีแดงนวัตกรรมต้านเซลล์ชรา ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าจากบริษัท อรุณ พลัส จํากัด และเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่ใช้ในรถ EV ที่ ปตท. ได้เริ่มกับพาร์ตเนอร์รายใหญ่เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell electric vehicle : FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (hydrogen station) ที่ชลบุรี