3 ฝ่ายล้วงลึกปัญหา ค่าไฟแพง ฝากรัฐบาลใหม่แก้ต้นเหตุ “ปรับโครงสร้าง”

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์-ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ-รสนา โตสิตระกูล
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์-ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ-รสนา โตสิตระกูล

แม้ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีมติผ่อนคลายปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ลงจากมติครั้งแรกที่เคาะไว้ 4.77 บาท/หน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย แต่ดูก็ยังจะไม่ใช่ทางออก การแก้ปัญหาค่าไฟแพง

และยังมีความเสี่ยงว่างวดหน้า เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 หรืองวดถัด ๆ ไป ปัญหาค่าไฟฟ้าจะกลับมาเป็นประเด็นกระทบภาระค่าครองชีพปากท้องประชาชนรากหญ้าไปจนถึงกระทบต้นทุนผู้ประกอบการเอกชน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงหรือไม่ แล้วอะไรคือทางออกที่แท้จริงของการแก้ปัญหาเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาเชิงวิชาการ หัวข้อ “ไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ทำค่าไฟแพง ใครรับผิดชอบ” ณ หอศิลปวัฒนธรรม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ตัวแทนจากสหภาพแรงงานและตัวแทนจากภาคประชาชน มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น

ประเด็นสำคัญที่เวทีได้ให้มุมมองและข้อสังเกตถึงความไม่สมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยล่าสุดเดือนมกราคม 2566 ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 53,384 เมกะวัตต์ แต่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนับแต่ปี 2562-2565 เพียงปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์เท่านั้น

ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินปีละกว่า 10,000 เมกะวัตต์ จึงทำให้มีการมองว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่นั้นสูงเกินไปกว่าค่ามาตรฐานสากลของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กำหนดไว้ 10-15% หรือไม่ และควรต้องวางแนวทางแก้ไขอย่างไร เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนปลายน้ำที่ต้องจ่ายค่าไฟแพง

ล้วงลึกสาเหตุค่าไฟแพง

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอนุกรรมการด้านการบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สรุปถึงสาเหตุของราคาค่าไฟฟ้าแพงว่าเกิดจาก 5 สาเหตุ ได้แก่ 1) การที่รัฐอนุมัติและรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้ประเทศมีการสำรองไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็น

ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของประเทศไทยอยู่ที่ 53,458 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกือบ 20,000 เมกะวัตต์ หรือมีไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 30 เกินกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ที่ประมาณร้อยละ 15 เท่านั้น

ขณะเดียวกัน กฟผ. เหลือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 32 จากในอดีตที่มีสัดส่วนการผลิตเกือบร้อยละ 70 โดยที่สัดส่วนการผลิตของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กลับมีถึงประมาณร้อยละ 48 แสดงให้เห็นว่าขณะนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญานั้นล้นเกินความจำเป็น ซึ่งประเด็นนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่ต้องรื้อระบบปรับโครงสร้าง และทบทวนสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชน พร้อมแก้ไขสัญญาที่ลงนามไปแล้ว

2) การบริหารก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยผิดพลาดช่วงเปลี่ยนผ่านสัญญาสัมปทานแหล่งปิโตรเลียม มีผลต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าราคาถูกไม่มาตามแผน ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ ในช่วงที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจึงสูงขึ้น

3) การจัดสรรก๊าซธรรมชาติที่ไม่เหมาะสม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซธรรมชาติคุณภาพดี ราคาถูก โดยไม่ต้องใช้ราคาเฉลี่ยจากทุกแหล่งก๊าซ (Pool Gas)

4) พลังงานสะอาดที่ประชาชนพึ่งพาตนเอง ไม่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานโซลาร์บนหลังคาของประชนชน สร้างความซับซ้อนของการขออนุญาต และสุดท้ายคือ การตั้งเป้าในเวทีโลกในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 40% ภายในปี 2030 แต่กลับยังไม่มีความชัดเจนในแผนดำเนินการ

“ปัญหาค่าไฟได้สะท้อนถึงปัญหาการวางแผนพลังงาน โครงสร้างอำนาจรัฐ โดยเฉพาะปัญหารัฐซ้อนรัฐ ปัจจุบันไทยมีไฟฟ้าสำรองจำนวนมาก และต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายอยู่ที่ 78 สตางค์ต่อไฟฟ้า 1 หน่วย ซึ่งอยู่ในส่วนของกำลังการผลิตล้นเกิน เป็นค่าพร้อมจ่ายอยู่ที่ 13 สตางค์ ถ้าเราบริหารการใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองให้อยู่ที่ 15% เราควรจ่ายค่าพร้อมจ่ายอยู่ที่ 65 สตางค์”

ดังนั้นจึงเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลรื้อโครงสร้างนโยบายด้านพลังงาน และจัดระบบการผลิตไฟฟ้าใหม่ เพื่อไม่ให้เอกชนมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินควร เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงมากเกินควร

กบง.เมินเฉยคำวินิจฉัยศาล รธน.

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ที่มีใจความว่า “…รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ…”

ศ.ดร.บรรเจิด มีความคิดเห็นว่า คำแนะนำข้างต้นเปรียบเสมือนคำเตือนเพื่อป้องกันการกระทำที่อาจขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามมาตรา 56 ที่เน้นหนักไปในเรื่องผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม กรณีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มติที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้รับทราบคำแนะนำข้างต้นและเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) และให้เปลี่ยนมาใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าแทนนั้น

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า การยกเลิกการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองอาจขัดแย้งกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในการเข้ามาผลิตไฟฟ้าสำรอง จนอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและประชาชน

รวมถึงอาจกระทบต่อสถานะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นการมีมติยกเลิกให้กำลังไฟฟ้าสำรองเป็นบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่ความเสียหายต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เคยให้ความเห็นว่า LOLE เป็นการวัดอีกแบบ ที่ดีกว่าแบบ Reserve Margin (RM) เพราะระบบนั้นจะใช้วัดแค่ค่าพีกไฟฟ้าจุดเดียวทั้งประเทศ เหมาะกับระบบที่มีโรงไฟฟ้าจากฟอสซิลเยอะ ๆ

แต่ LOLE เป็นการวัดทุกช่วงเวลา ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง เหมาะสำหรับระบบที่จะมีการนำพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน (RE) เข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของประเทศไทยที่กำลังมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero)

ไทยผลิตไฟฟ้าพุ่งในรอบ 20 ปี

ขณะที่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค อธิบายว่า ปัญหาพลังงานเป็นเพียงตัวอย่างจากปัญหารัฐซ้อนรัฐ ที่มีการถ่ายโอนกำลังการผลิตจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปให้เอกชนผลิตโดยมีราคาที่สูง อัตราการผลิตไฟฟ้าเติบโตแบบก้าวกระโดดในรอบ 20 ปี

โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารในปี 2557 ส่งผลให้ราคาที่ กฟผ.ซื้อจากเอกชนในราคาปลายเปิด จึงต้องกลายมาเป็นค่า Ft ที่ประชาชนต้องแบกรับ ซึ่งเป็นปัญหาจากความผิดพลาดในการบริหารของรัฐบาล ทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้รับผิดชอบค่าความพร้อมจ่ายอยู่ที่ประมาณ 8 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังชี้ถึงการบิดประเด็นของรัฐบาลในการคิดราคาค่าไฟเป็นคิดตามกำลังการผลิตตามสัญญาแทนการคิดตามอัตราการสำรองพึงพาได้ รวมถึงการยกเลิกการใช้อัตราการสำรองพึงพา และมาใช้ LOLE แทน รวมถึงต้นทุนที่ถูกส่งมายังผู้บริโภคในครัวเรือนขยับสูงมากในระหว่างปี 2565-2566 ที่เดิมเคยราคา 3.78 บาท กลายเป็น 4.77 บาท

ดังนั้นหากไม่แก้ปัญหาที่ทาง รศ.ดร.ชาลีเสนอไป ย่อมต้องจ่ายค่าไฟแพง อีกด้านหนึ่งนโยบายรัฐบาลควรที่ต้องเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

ไฟฟ้า-ประปาผูกขาดโดยธรรมชาติ

สำหรับ นายกิตติชัย ใสสะอาด ประธานเครือข่ายปกป้องไฟฟ้า ประปาและยาเพื่อชาติและประชาชน และประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า กิจการไฟฟ้าและประปาเป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ

เนื่องจากจำเป็นต้องทำให้เป็นระบบเป็นโครงข่ายเดียวกันทั้งประเทศ ดังนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการยกกิจการเหล่านี้ให้เอกชนจะทำให้เอกชนเข้ามามีอำนาจผูกขาดและสุดท้ายภาระค่าไฟฟ้าจะไปตกอยู่ที่ประชาชน

แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ถูกแปรรูปแต่ก็ถูกทำให้อ่อนแอลงด้วยการลดกำลังการผลิตจากร้อยละ 60 เหลือเพียงร้อยละ 30 รวมถึงรายได้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลดลง จากการลดอัตราค่าบริการ แต่ยังต้องส่งรายได้เข้ารัฐเท่าเดิม นอกจากนี้ต้องแบกค่า Ft ของผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) เป็นภาระค่าใช้จ่ายของ กฟภ. คิดเป็นเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

ขณะที่นโยบายของรัฐบาล เรื่องการลดค่าไฟสำหรับประชาชน ทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไฟฟ้าต้องแบกรับค่าใช้จ่าย แต่เอกชนได้ประโยชน์เพราะไม่ถูกกำกับเรื่องการลดค่าไฟ ทั้งยังได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอย่างตรงจุด รัฐบาลต้องไปต่อรองกับเอกชนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำสัญญาแบบ “Take or Pay”

ท้ายที่สุด “นางสาวสุมลทา ทองเงิน” ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟ ฝากถึงพรรคการเมือง นักการเมืองและรัฐบาลหน้า ให้มองและแก้ไขที่ต้นตอปัญหาค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาระของประชาชน รวมถึงขอความจริงใจจากพรรคการเมืองใดที่ได้รับเลือกเป็นรัฐบาลและมีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟต้องทำให้ได้จริง