ส่งออกไทย เมษายน 2566 หดตัว 7.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

กีรติ ปลัดพาณิชย์ เผยการส่งออกไทยเดือนเมษายน 2566 หดตัว 7.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 มีมูลค่า 21,723 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากเงินเฟ้อ ภาวะหนี้สหรัฐ ชี้ยังมีปัจจัยบวกในตลาดจีน เป้าส่งออกทั้งปียังอยู่ที่ 1-2%          

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2566 มีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินบาท 737,788 ล้านบาท) หดตัว 7.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 6.8% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,195.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.3% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การส่งออกไทย 4 เดือนแรก หดตัว 5.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 2.3% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 96,519.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.2% ส่งผลให้ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 4,516.0 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกที่หดตัวเป็นผลจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกกดดันอุปสงค์ด้านการส่งออก อีกทั้งหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัว แม้ว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรปยังกดดันเศรษฐกิจโลก

ส่งออกสินค้าเกษตร-อุตฯเกษตร

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมีขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน มาจากการขยายตัวของสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ซึ่งขยายตัว 23.8% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน หดตัว 12.0% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 142.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน)

ข้าวขยายตัว 3.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย เม็กซิโก และญี่ปุ่น) เครื่องดื่มขยายตัว 2.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และสหรัฐ) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัว 38.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัว 44.1% หดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ลาว เนเธอร์แลนด์ และแอฟริกาใต้) ยางพารา หดตัว 40.2% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดีย และตุรกี แต่ขยายตัวในตลาดจีน เยอรมนี และบัลแกเรีย) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปหดตัว 17.1% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ออสเตรเลีย ลิเบีย แคนาดา และแอฟริกาใต้ แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย ชิลี และกัมพูชา) ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.7%

ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

ส่วนการมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 11.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน แม้ว่าการส่งออกภาพรวมของหมวดจะหดตัว แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 3.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 55.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง เม็กซิโก แคนาดา และฝรั่งเศส)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัว 23.5% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ลาว ออสเตรเลีย ฮ่องกง และแอฟริกาใต้) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบหดตัว 19.0% หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย เยอรมนี ออสเตรเลีย และอินเดีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบหดตัว 11.5% หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเยอรมนี แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา)

อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัว 27.0% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ เยอรมนี สหราชอาณาจักร อินเดีย และเบลเยียม แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น ตุรกี เมียนมา และอิสราเอล) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว 27.1% หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และเมียนมา) ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 7.1%

ตลาดส่งออกสำคัญ

สัญญาณบวกที่สำคัญการส่งออกไป โดยเฉพาะตลาดจีนกลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

(1) ตลาดหลัก หดตัว 6.2% โดยหดตัวในตลาดสหรัฐ 9.6% ญี่ปุ่น 8.1% อาเซียน (5) 17.7% CLMV 17.0% และสหภาพยุโรป (27) 8.2% อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนกลับมาขยายตัว 23.0%

(2) ตลาดรอง หดตัว 14.9% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 25.9% ตะวันออกกลาง 16.7% แอฟริกา 26.9% ละตินอเมริกา 9.4% แต่ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 4.4% ตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS 155.4% และสหราชอาณาจักร 49.0%

(3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 72.2% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 77.9%

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์พร้อมดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก และยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2566ที่ 1-2% ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานที่มีความท้าทายและเป็นไปได้ ส่วนแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ส่วนสัญญาณบวกมองว่าการฟื้นตัวของตลาดจีนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้ เชื่อว่าการส่งออกจะกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 3