ความสำเร็จของการห้ามส่งออกนิกเกิล ต่างชาติแห่ลงทุนในอินโดนีเซีย FDI เกือบ 4 แสนล้านบาท

อินโดนีเซีย นิกเกิล
AFP/ ANDRY DENISAH

ผลจากการที่อินโดนีเซียห้ามส่งออกนิกเกิลซึ่งเป็นแร่ที่สำคัญในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดึงให้บริษัทต่างชาติที่ต้องการนิกเกิลต้องแห่ตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2565 ในภาคอุตสาหกรรมแร่-โลหะ 10,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 376,000 ล้านบาท

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีแหล่งแร่นิกเกิลสำรองมากที่สุดในโลก ปริมาณ 21 ล้านตัน เท่ากันกับออสเตรเลีย อ้างอิงตัวเลขจากการสำรวจทางธรณีวิทยาโดยหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา 

เมื่อปี 2565 อินโดนีเซียผลิตนิกเกิลได้ 1.6 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดในโลก 

ที่ผ่านมาอินโดนีเซียก็ส่งออกแร่นิกเกิลดิบแบบทั่ว ๆ ไป แต่ด้วยความมีวิสัยทัศน์ของ โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เขาประกาศห้ามส่งออกแร่นิกเกิลเมื่อปลายปี 2563 

ในเมื่อนิกเกิลเป็นแร่ที่สำคัญในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่โลกกำลังมุ่งหน้าไป ดังนั้น แทนที่อินโดนีเซียจะเป็นเพียงผู้ส่งออกวัตถุดิบที่โลกต้องการ ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศได้ประมาณหนึ่ง ผู้นำอินโดนีเซียใช้กลยุทธ์ห้ามส่งออก ถ้าใครอยากได้ก็เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในบ้านฉันสิ 

พอเปลี่ยนมาเดินเกมแบบนี้ อินโดนีเซียทั้งได้เงินมากกว่าเดิม ทั้งได้สร้างงานในประเทศ ทั้งได้ยกระดับประเทศขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าสูง ได้เพิ่มพลังอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมือง 

อินโดนีเซีย นิกเกิล
AFP/ Adek BERRY


ปี 2565 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์นิกเกิลของอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้นเป็น 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการการส่งออกส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ในระดับกลางน้ำ มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าจากจากปี 2562 ที่มูลค่าส่งออก 8,000 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกส่วนใหญ่ในตอนนั้นยังเป็นการส่งออกแร่ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป 

การห้ามส่งออกแร่นิเกิลของอินโดนีเซียกระตุ้นให้เกิดการสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย บริษัทต่างชาติหลายรายจากหลายประเทศแห่เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย เพื่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในการเข้าถึงแหล่งแร่นิเกิลสำรองที่อินโดนีเซียมีอยู่มหาศาล 

จีนซึ่งมีความต้องการใช้นิกเกิลมากที่สุด เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คือผู้เล่นระดับแนวหน้าของการลงทุนผลิตนิกเกิลในอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจีนครองสัดส่วนความต้องการใช้นิกเกิลทั่วโลกอยู่ประมาณ 60% ของความต้องการนิกเกิลทั่วโลก

อ้างอิงตามข้อมูลของกระทรวงการลงทุน (Ministry of Investment) ของอินโดนีเซีย ในปี 2565 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment : FDI) ในภาคอุตสาหกรรมโลหะของอินโดนีเซียมีมูลค่าราว 10,900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 376,000 ล้านบาท) โดยเกือบ 60% มาจากจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง นอกจากนั้น เชื่อว่าบริษัทจีนบางบริษัทลงทุนในอินโดนีเซียผ่านสิงคโปร์อีกทางหนึ่งด้วย 

การลงทุนของจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และสิงคโปร์ในอินโดนีเซียส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่จังหวัดสุลาเวสีและจังหวัดมาลูกูเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งนิกเกิลสำรองแหล่งใหญ่ของอินโดนีเซีย 

บริษัทจีนมักจะได้รับการต้อนรับอย่างดีเนื่องจากมีความรู้ความชำนาญในการแปรรูปนิกเกิล ผู้เล่นสัญชาติอินโดนีเซียมักจะแสวงหาความร่วมมือจากบริษัทจีนก่อนที่จะระดมทุนในตลาดหุ้น ทำให้ตอนนี้มีบริษัทร่วมทุนระหว่างทุนท้องถิ่นกับทุนจากจีนจำนวนหลายบริษัทในอุตสาหกรรมนิกเกิลอินโดนีเซีย 

ความต้องการใช้นิกเกิลจากอินโดนีเซียอย่างเร่งรีบ ทำให้นักลงทุนสหรัฐและจีนเห็นพ้องต้องกันที่จะเข้าไปลงทุน เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา Ford Motor จากสหรัฐตัดสินใจลงทุนในโรงงานถลุงนิกเกิลของบริษัท Vale Indonesia ในจังหวัดสุลาเวสีตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัท Zhejiang Huayou Cobalt ของจีนเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นด้วย 

อินโดนีเซีย นิกเกิล
AFP / Bannu MAZANDRA


POSCO Holdings บริษัทผู้ผลิตเหล็กของเกาหลีใต้เป็นอีกรายที่เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จะใช้เงิน 441 ล้านดอลลาร์สหรัฐสร้างโรงกลั่นนิกเกิลในประเทศอินโดนีเซีย บนเกาะฮัลมาเฮรา จังหวัดมาลูกูเหนือ โดยมีกำหนดจะเริ่มการก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าหมายที่จะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2568

BASF ผู้ผลิตสารเคมียักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน และ Eramet บริษัทเหมืองแร่จากฝรั่งเศสจะลงทุนมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์ในโรงกลั่นนิกเกิลในมาลูกูเหนือ ซึ่งจะผลิตสารประกอบนิกเกิล-โคบอลต์ที่ใช้ในแบตเตอรี่ EV ซึ่งผู้บริหารของทั้งสองบริษัทได้พบกับวิโดโดที่ประเทศเยอรมนีเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

“การลงทุนในอินโดนีเซียหมายถึงการลงทุนในอนาคตอันสดใส” วิโดโดกล่าวที่งานแสดงสินค้า Hannover Messe ในเยอรมนี

ความสำเร็จของอุตสาหกรรมนิกเกิลอินโดนีเซียเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าจากการใช้นโยบายอันแน่วแน่ของรัฐ และเป็นแรงจูงใจให้วิโดโดขยายกลยุทธ์นี้ไปใช้กับแร่อื่น ๆ ด้วย โดยประกาศห้ามส่งออกแร่หลายชนิดของเขา เช่น บอกไซต์ ดีบุก และทองแดง จะเริ่มมีผลในต้นเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึงนี้ โดยที่เพิ่งประกาศผ่อนปรนเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้สามารถส่งออกแร่ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี และแอโนดที่ผลิตจากทองแดงต่อไปได้จนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า 

ถึงแม้อินโดนีเซียจะเดินตามรอยความสำเร็จของนิกเกิล แต่นักวิเคราะห์มองว่า การห้ามส่งออกแร่เหล่านี้คงไม่ให้ผลลัพธ์ที่ดีใกล้เคียงกับการห้ามส่งออกนิกเกิล เพราะแร่บอกไซต์ ดีบุก และทองแดง นั้นสามารถหาจากประเทศอื่นได้ง่ายกว่านิกเกิล อินโดนีเซียไม่มีอำนาจเหนือตลาดแร่เหล่านี้เหมือนที่มีอำนาจเหนือตลาดแร่นิกเกิล