นับถอยหลัง 8 เดือน ปี 2566 เร่งพลิกส่งออกไทยจาก “ลบ” เป็น “บวก”

AFP/ PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ย้อนกลับมาดูสถานะการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก ปี 2566 ไทยส่งออกได้ 71,860.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบอยู่ถึง 7.1% เท่ากับเหลือเวลาเพียง 8 เดือนที่ไทยเร่งสปีดส่งออกพลิกจากลบให้กลายเป็นบวกให้ได้ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าจากภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจในตลาดหลักอย่างสหรัฐ เชื่อมโยงถึงปัญหาค่าเงินผันผวน รวมไปถึงปัจจัยภายใน โดยเฉพาะการสร้างเสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังลูกผีลูกคน

การเผชิญภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟ ราคาน้ำมัน และยิ่งหากมีการปรับค่าแรง 450 บาท เชื่อมั่นว่าอาจจะกระทบต่อการลงทุนใหม่

ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) 58 สำนักงานทั่วโลกเมื่อเร็วๆนี้ ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์ ทิศทางการส่งออกช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2566 พร้อมแผนขับเคลื่อนการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายขยายตัว 1-2% มูลค่า 290,300-293,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

มุมสะท้อนจากภาคเอกชน ทั้งนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายชัยชาญ เจริญสุขประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยังมองอย่างมั่นใจว่า จะสามารถผลักดันส่งออกโตได้ 1-2% โดยรัฐ-เอกชนร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ แก้ไขปัญหา ลดอุปสรรค และส่งเสริมตลาดส่งออก จะช่วยตัวเลขส่งออกให้โตได้

 

เป้าหมายส่งออก 1-2%

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การผลักดันการส่งออกนั้นไม่เพียงจะมุ่งเปิดตลาดส่งออกใหม่ แต่ยังต้องรักษาและฟื้นฟูตลาดเดิม ด้วยการปูพรมเจาะตลาดเมืองรอง โดยเฉพาะในอาเซียน สหรัฐ และยุโรป

เป้าหมายการส่งออก 1-2% แบ่งเป็น ตะวันออกกลางและแอฟริกา เป้าขยายตัว 20% มูลค่า 5,380 ล้านบาท เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย เป้าขยายตัว 2.2% มูลค่า 4,163 ล้านบาท

จีน ขยายตัว 1% และฮ่องกง ขยายตัว 2% มูลค่ารวม 3,238 ล้านบาท ยุโรป ขยายตัว 1% มูลค่า 2,450 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา แบ่งเป็น เป้าอเมริกาเหนือ ขยายตัว 4.5% และละตินอเมริกา ขยายตัว 4% มูลค่ารวม 2,380 ล้านบาท เอเชียใต้ ขยายตัว 10% มูลค่า 980 ล้านบาท อาเซียน ขยายตัว 6.6% คิดเป็นมูลค่า 808 ล้านบาท

กลยุทธ์สำคัญจะมีการจัดกิจกรรม 350 กิจกรรม ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 550 ล้านเหรีญสหรัฐ จัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางขยายตลาดศักยภาพ การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การจับคู่เจรจาธุรกิจทั้งออฟไลน์และออนไลน์

โดยสินค้าเป้าหมายอาทิ BCG สินค้านวัตกรรมใหม่ ธุรกิจบริการมูลค่าสูง โดยเฉพาะดิจิทัลคอนเทนต์ HORECA ร้านอาหาร Thai Select ขณะเดียวกันต้องเชื่อมโยงการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัดเพื่อผลักดันเศรษฐกิจฐานราก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งสำนักงานทูตพาณิชย์ในประเทศที่อยู่ในตลาดเอเชียกลาง เป็นตลาดที่มีศักยภาพ และจะจัดคณะผู้แทนการค้าเยือนละตินอเมริกา และยังมีกิจกรรมงานแสดงสินค้าในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าอาหาร

ตาราง สถานการณ์ส่งออกไทย

 

ห่วงเงินเฟ้อคู่ค้าฉุดส่งออก

นายธนวุฒิ นัยโกวิท อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการพาณิชย์ (ทูตพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง เมียนมา เปิดเผยว่า เป้าหมายส่งออกตลาดอาเซียนโต 6.6% จากปัจจัยบวกเศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่ม แม้ว่าจะมีปัจจัยลบยังต้องติดตาม เงินเฟ้อสูง ค่าเงินประเทศ แต่จากการเริ่มเปิดด่านชายแดน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงอาเซียน ทำให้การท่องเที่ยวและบริการเติบโต ช่วยให้ส่งออกดีขึ้น

ทาง สคต. จะส่งเสริมการจัดกิจกรรมทั้งเมืองหลัก เมืองรอง ด้วยการร่วมงานแสดงสินค้า ทำอีคอมเมิร์ซ สินค้าเป้าหมายสำคัญ เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางวัสดุก่อสร้าง สินค้าความงาม เป็นต้น

นางสาวเกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐปี 2566 จะขยายตัว 1.5% และยังมีความไม่แน่นอนสูง จากปัญหาเงินเฟ้อ แต่การส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกาก็เชื่อว่ายังเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ผลไม้ กลุ่มสินค้าแพลนต์เบส สินค้าไลฟ์สไตล์ ของใช้เด็ก สินค้าสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

ทาง สคต. พร้อมจัดกิจกรรม เช่น การขยายตลาดสินค้าอาหาร การเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ การร่วมงานแสดงสินค้า การนำธุรกิจไทยเจรจาการค้า เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ขยายตัว 4%

“ตลาดสหรัฐก็ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะความเข้มงวดการนำเข้าสินค้า การเพิ่มภาษี รวมถึงนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

นางสาวพัชรา รัตนบุบผา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เปิดเผยว่า การส่งออกในตลาดยุโรปเป้าโต 1% โดยที่ยังต้องติดตามปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อที่ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศลดลง ต้นทุนสินค้านำเข้าสูง ทำให้สินค้าราคาแพง

อย่างไรก็ตามยังมองว่าการส่งออกในตลาดนี้เติบโต เนื่องจากสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการ สคต. จะส่งเสริมกิจกรรมส่งออกโดยเฉพาะอาหาร เกษตร ไลฟ์สไตล์ บริการ เครื่องปรับอากาศ และเร่งเจาะตลาดเมืองรอง 7 แห่ง ร่วมงานแสดงสินค้า จับคู่เจรจา เป็นต้น

 

ชู Mini FTA

ขณะที่ นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในปีนี้ยังต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 26 ปี และค่อนข้างผันผวน

ทำให้ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าลดลงกระทบเป็นลูกโซ่มาถึงสินค้าไทย แต่ยังมีปัจจัยบวกจากโควิด-19 คลี่คลาย นโยบายการเปิดประเทศ กระตุ้นการจับจ่ายของการท่องเที่ยว จึงคาดว่าการส่งออกไปสู่ภูมิภาคนี้ จะขยายตัวได้ 2.15%

สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกจะมุ่งเน้นผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย ต่อยอดการลงนาม Mini-FTA เมืองโคฟุ จ.วากายามะ ปูพรมกิจกรรมเมืองหลักและเมืองรอง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ส่งเสริม Soft Power อาหารไทย ด้วยตรา Thai SELECT เป็นต้น

นายสกรรจ์ แสนโสภา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เปิดเผยว่าเป้าส่งออกจีนโต 1% จากการทำความตกลง Mini FTA ที่น่าจะต่อยอดไปเมืองอื่นมากขึ้น อีกทั้งจีนมีมาตรการผ่อนคลายโควิดและสนับสนุน Cross border ecommerce เกิดโอกาสสำหรับสินค้าไทย

แต่ก็มีปัจจัยลบทั้งมาตรฐานสินค้าเข้มข้น ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และข้อจำกัดเรื่องภาษาจีน แต่ผลักดันกิจกรรมสินค้าไทยทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ใน 8 เมืองสำคัญ

นางสาวสุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประจำเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย กล่าวว่า กลุ่มตลาดเอเชียใต้ เป้าหมายส่งออกโต 10% โดยจะเดินหน้า 7 กลยุทธ์ และส่งเสริมกิจกรรม อาทิ ปักหมุดสินค้าไทยในเมืองหลัก จัดงาน Top Thai Brands รุกตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ จัดคณะผู้แทนมาเจรจาธุรกิจ การค้าออนไลน์ พร้อมทั้งขยายผล Mini FTA หนุนส่งออก

โดยเฉพาะวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ยังต้องดูปัจจัยลบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ที่มีการจำกัดด้านนำเข้า เป็นต้น