กฟผ.ปั้นธุรกิจเวลเนสรอบเขื่อน 9 แห่ง วางเป้ารับท่องเที่ยวกว่า 2,000 คน

กฟผ.ปั้นธุรกิจเวลเนสรอบเขื่อน 9 แห่ง

กฟผ.จับมือกฎบัตรและเครือข่ายมหาวิทยาลัยเดินหน้าลุยธุรกิจเวลเนสรอบเขื่อน 9 แห่งทั่วประเทศ รองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเบื้องต้น 2,000 คน พร้อมดึงศักยภาพไทยสู่ประเทศรายได้สูง

วันที่ 2 มิถุนายน 2566 นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับนายฐานปนา บุณยวิตร นายกสมาคมการผังเมืองประเทศไทย กรรมการเลขานุการกฎบัตรไทย และเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้

มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ พลังงานสะอาด และการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่ของ กฟผ. เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร

นายฐานปนา บุณยวิตร นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกฎบัตรไทยกับ กฟผ.ในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับเขื่อนของ กฟผ.และพื้นที่ชุมชนโดยรอบที่มีศักยภาพสู่ธุรกิจเวลเนส พร้อมยกระดับเป็นเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ เขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง และเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมูลค่าสูง

โดยพัฒนารูปแบบธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยี นวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาเครือข่ายการตลาด ส่งเสริมการจ้างงานและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงประสานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี เพื่อร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการเปลี่ยนไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงในปี 2580

“ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศของเอเชียที่ความสามารถด้านการแพทย์และบริการสุขภาพ โดย Global Wellness Institute (GWI) คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มเศรษฐกิจเวลเนสจนถึงปี 2568 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายฐานปนากล่าว

นายบุญญนิตย์กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกฎบัตรไทยในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เขื่อนและชุมชนโดยรอบของ กฟผ.สู่ธุรกิจด้านสุขภาพแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสุขภาพเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพัฒนาพลังงานสะอาด สนับสนุนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ชุมชน

โดย กฟผ.จะจัดทำแผนแม่บทบูรณาการเชื่อมโยงร่วมกับกฎบัตรไทยและเครือข่ายมหาวิทยาลัยในแต่ละภาคของประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ประจำภาคสำหรับพัฒนาชุมชนในแต่ละจังหวัด โดยมีเขื่อนของ กฟผ. เป็นศูนย์การดำเนินการและเชื่อมโยงสู่ชุมชน ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 9 แห่งทั่วประเทศ

นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กล่าวเสริมว่า กฟผ.จะเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่นำศักยภาพเชิงพื้นที่และศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ที่มีมาบูรณาการเผื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ด้วยความพร้อมพื้นที่เขื่อนของ กฟผ.ที่มีทั้งที่พักอาศัย พื้นที่นันทนาการ และการขนส่งที่พร้อมรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อต่อยอดสร้างผลบวกทางด้านเศรษฐกิจมูลค่าสูงต่อชุมชนโดยรอบ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

“โดยเป้าหมายหลักคือ การพัฒนาพื้นที่เขื่อนทุกแห่งในประเทศเพื่อเป็นการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศรายได้สูงและเป็นศูนย์การแพทย์ระดับโลก (Medical Hub) พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเบื้องต้นประมาณ 2,000 คน โดยปัจจุบันเริ่มมีการดำเนินงานในเขื่อน 9 แห่งของ กฟผ. ประกอบด้วย ภาคเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก

ต่อมาคือ ภาคใต้  2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ รวมถึงภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี”