จาก “ข้าว” สู่ “สุราชุมชน” สร้างมูลค่าเพิ่ม-เสริมรายได้ชาวนา

สุราชุมชน

ภาพบรรยากาศงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2566 ที่จัดขึ้นบริเวณกรมการข้าว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างคึกคัก ไม่ใช่เพียงเพราะมีการนำนวัตกรรมด้านการผลิตข้าวมาจัดแสดงเท่านั้น แต่งานปีนี้ได้มีการนำสินค้าแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวมาจัดแสดงด้วย ไฮไลต์สำคัญ คือ สุราพื้นบ้านที่ต่อยอดจากข้าว สินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานจนกลายเป็นสินค้าไฮแวลู่

ในแต่ละปีประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกข้าวปีละนับกว่า 1.5 แสนล้านบาท แต่เกษตรกรไทยยังไม่สามารถหลุดพ้นกับดักความยากจน จากการทำการเกษตรวิถีเดิม

กระทั่งเทรนด์การส่งเสริมให้มีการต่อยอดพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน “สุราจากข้าว” กลายมาเป็นสินค้าความหวังตัวใหม่ของเกษตรกร จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า สุราแช่พื้นเมืองเริ่มมียอดจองยาวเหยียด สะท้อนเสียงตอบรับจากภาคประชาชนที่มีต่อ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ (สุราก้าวหน้า)

สุราสักทอง หวั่นเกณฑ์ผู้ผลิต

นางกัญญาภัค ออมแก้ว ประธานชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุราสักทอง กล่าวว่า เห็นด้วยกับเรื่องสุราก้าวหน้าที่ให้คนในชุมชนสามารถหมักเพื่อใช้บริโภคในชุมชน และเป็นสินค้าท้องถิ่นที่เข้มแข็งและมีตลาดของตัวเองที่สามารถยกระดับราคาสินค้าเกษตรอย่างข้าวให้มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงส่งเสริมให้ไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจคนตัวเล็กที่สามารถเติบโตเป็นตัวใหญ่ได้

“สุราสักทองเป็นการช่วยเหลือกันในชุมชนชาวนา ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เพื่อยกระดับสินค้าอย่างข้าว โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อยอดสร้างสรรค์เป็นสาโท ซึ่งปัจจุบันก็มีหลากหลายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ เช่น สุรากลั่น ไวน์ผลไม้ สุรากลั่นพิเศษ ถึงแม้ว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะยังไม่ผ่าน แต่ด้วยกระแสของสุราก้าวหน้า รวมถึงการโปรโมตจากกลุ่มเครือข่ายสุราก้าวหน้าก็ทำให้หลายรายขายจนหมดสต๊อก”

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลถึงกฎเกณฑ์ในการกำหนดผู้ผลิตสุราและการควบคุมการขาย รวมถึงการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนที่คาดหวังให้มีความรัดกุมในการออกนโยบาย

แซตอม หนุนสุราก้าวหน้า

นายสุแทน สุขจิต วิสาหกิจชุมชนแซตอมออร์แกนิคฟาร์ม จ.สุรินทร์ กล่าวขอบคุณนโยบายสุราก้าวหน้าที่นำความคิดใหม่เข้ามาช่วยต่อยอดและสนับสนุนนวัตกรรมของท้องถิ่นไทย เพราะสินค้าของแซตอมทำโดยกลุ่มชาวนาที่ทำอาชีพเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว รายได้ไม่เพียงพอ

จึงต้องการแปรรูปข้าวด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถยืดอายุการรักษา พร้อมอนุรักษ์ภูมิปัญญา และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับการขายข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ได้มีการแก้ไขการอนุญาตผลิตสุรา เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง สามารถใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนแต่ไม่เกิน 50 คน ในการผลิตได้ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการสุราชุมชน

“แซตอม ออร์แกนิคเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กมีกำลังการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า ทว่าในปัจจุบันเครื่องจักรที่มีกำลังผลิต 5 แรงม้าหรือเทียบเท่ากับการใช้เตาถ่าน 2-3 เตา ซึ่งปัจจุบันก็แทบจะไม่มีเครื่องจักรที่มีกำลังผลิตขนาดนั้นแล้ว

ถึงแม้จะเข้าใจทางกรมสรรพสามิตที่มีเหตุผลในการออกกฎหมายกำหนดปริมาณกำลังการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ 50 แรงม้า แต่ก็มากเกินไปสำหรับการผลิตสุราชุมชนใช้แค่เครื่องจักรการผลิต 20 แรงม้า ก็เหลือเฟือแล้ว” นายสุแทนกล่าว

หนุนปลูกข้าวสาลี

ด้าน นายสิปปวิชญ์ ปัญญาตุ้ย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวเตรียมออกพันธุ์ข้าวสาลี เพื่อนำร่องให้เกษตรกรทางภาคเหนือปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ สำหรับใช้พัฒนาเป็นสุราในอนาคต

“เนื่องจากพันธุ์ข้าวสาลีของทางกรมการข้าว นอกจากทำขนมปังแล้ว สามารถนำมาเป็นต้นแบบในกลุ่มของคราฟต์เบียร์ในกลุ่มเบียร์ข้าวสาลี (wheat beer) หรือที่รู้จักกันในกลุ่ม Weizen ซึ่งเป็นเบียร์ข้าวสาลีของเยอรมนี โดยปัจจุบันกรมการข้าวยังมีการปรับปรุงพันธุ์ในกลุ่มข้าวบาร์เลย์อีกด้วย และคาดว่าในปี 2568 จะได้ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์เพื่อรับรองพันธุ์ไปทำมอลต์ (Malt) เพื่อเป็นหัวเชื้อในกลุ่มแอลกอฮอล์”

โดยโครงการข้าวสาลีของทางกรมการข้าวจะให้องค์ความรู้แก่เกษตรกร เช่น เทคโนโลยีในการผลิตพันธุ์ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ รวมไปถึงการยกระดับสินค้าด้วยสูตรการผลิตคราฟต์เบียร์จากข้าวสาลี ซึ่งมีกรมการข้าวและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

แต่อย่างไรก็ตามในขั้นต้น กรมการข้าวต้องการส่งเสริมเกษตรกรในการผลิตข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์เป็นหลักก่อน เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรก่อน ส่วนการต่อยอดและยกระดับในการทำผลิตภัณฑ์ต้องพิจารณาในลำดับถัดไป