
ในเกมธุรกิจโลกยุคใหม่ เมื่อโลกเปลี่ยน ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนตาม “ประชาชาติธุรกิจ” จัดสัมมนา ESG : Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก นำโมเดลภาคธุรกิจที่ปรับตัวสร้างการเติบโตพร้อมกับความยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG ที่ต้องใส่ใจทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม มาแชร์มุมมองการทำธุรกิจ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566
40 ปี องค์กร ESG
“นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น กล่าวบรรยายในหัวข้อ The Great Remake สู่โอกาสใหม่ ฉายภาพว่า ESG อยู่ในดีเอ็นเอของบางจากฯ โดยการผสานให้ ESG เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ หรือ ESG in Process ทำให้วันนี้บางจากเป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบางจากฯ ปี 1984 (2527) จากการแปลงกรมการพลังงานทหาร มาสู่การเป็นบริษัทจำกัด บางจากฯได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับ ESG ไม่ว่าจะโครงการข้าวแลกน้ำมันในปี 2533 ที่ช่วยเหลือเกษตรกรจากวิกฤตราคาข้าวตกต่ำ พร้อมขายน้ำมันให้แก่สหกรณ์ จนเกิดสถานีบริการน้ำมันสหกรณ์ ที่ในปัจจุบันมีมากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ
นับเป็น social enterprise แห่งแรกในประเทศไทย ที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง หรือการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาเป็นของสมนาคุณลูกค้า เพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน ตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และการเป็นผู้นำพลังงานทดแทน ผลิตไบโอดีเซล เอทานอลจำหน่ายในสถานีบริการในปี 2548
“ผมเชื่อว่า ESG จะอยู่และยั่งยืนได้ ไม่ใช่เกิดจากส่วนเกินที่เขาเอามาขายให้ หรือการบริจาค หากแต่การทำ ESG ต้องผสมผสานเข้าไปในธุรกิจ และสุดท้าย ESG จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้เราองค์กรได้ถึงจะยั่งยืนต่อไปได้”
ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน
เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน บางจากฯเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ลงทุนเหมืองแร่ลิเทียมในทวีปอเมริกาใต้ ผ่านบริษัทในสหรัฐ และขยายธุรกิจพลังงานสะอาดผ่านบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) รวมถึงตั้งสถานีบริการน้ำมันต้นแบบด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม มีระบบกักเก็บพลังงานและซื้อขายไฟฟ้าผ่านบล็อกเชน สร้างระบบนิเวศ (ecosystem) สู่สังคมคาร์บอนต่ำ บุกเบิกแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Winnonie จัดตั้ง Carbon Markets Club
เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมเรื่องการเพาะเนื้อเยื่อจากแล็บ อย่าง SynBio ลดการปล่อยมีเทนจากการเลี้ยงปศุสัตว์ และร้านอินทนิล คอฟฟี่หันมาใช้แก้วที่ย่อยสลายเองได้ในธรรมชาติ (biodegradable cup) ในปี 2559
SAF ทางเลือกใหม่
ล่าสุดบางจากฯยังเป็นผู้นำการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) โดยได้ตั้งบริษัท BSGF ลงทุนต่อยอดโรงกลั่นบางจาก เพื่อผลิต SAF จากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว กำลังการผลิต 1 ล้านลิตร งบประมาณ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จใน 2 ปีข้างหน้า
การพัฒนาน้ำมัน SAF เป็นผลจากวิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านพลังงานในโลก จากความไม่แน่นอนของโลกที่รู้จักกันว่าเกิด VUCA นำมาสู่การตั้งคำถามว่า “หากจะลงทุนครั้งใหญ่ ควรจะลงทุนในธุรกิจใด” ซึ่งจากหลายซีนาริโอที่ศึกษาพบว่า ภาพรวมโลกใช้น้ำมัน 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่การคาดการณ์ปริมาณการใช้เพิ่มสูงสุด (peak) จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแต่จะเมื่อไรขึ้นอยู่กับในแต่ละภูมิภาค อย่างภาคขนส่งทางบกจะพีกปี 2030-2035 (2573-2578) โดยจีนคาดการณ์ว่า แก๊สโซลีนจะพีกปี 2024 (2567) ดีเซลจะพีกในปี 2077 (2620)
“ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้น้ำมัน 1% ของทั้งโลก หรือ 1 ล้านบาร์เรล และมีการคาดการณ์ว่าไทยจะเกิดการใช้พีกในปี 2583 แล้วหลังจากนั้นการใช้ก็จะค่อย ๆ ลดลง”
ขณะที่ภาคการขนส่งทางน้ำหันใช้ LNG แทนน้ำมันเตา ดังนั้น จึงมีเพียงภาคการขนส่งทางอากาศ กับสาขาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (Pet Chem) ที่ใช้น้ำมันเติบโตเพิ่มขึ้น
ภาวะดังกล่าวผู้ทำธุรกิจโรงกลั่นส่วนใหญ่หันไปทำปิโตรเคมี แต่เราเลือกทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่า นั่นคือ SAF เพราะตามแผนการลดคาร์บอนการบินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันเจ็ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อีมิสชั่นเติบโต 5 เท่าในปี 2070 (2613)
“การลดการปล่อยของเสียของเครื่องบินนั้นไม่ง่าย ทำได้เพียงการออกแบบปีกและท่อใหม่ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และไม่สามารถปรับใช้แบตเตอรี่ทดแทนได้ เพราะเคยมีการทดลองในเครื่องบินโบอิ้ง 787 ใช้น้ำมันผสมกับแบตเตอรี่ เมื่อขึ้นบินแล้วกลับติดไฟ ส่วนการพัฒนาพลังงานอื่นอย่าง ไฮโดรเจน ยังติดปัญหาราคาแพงและไม่เสถียร ดังนั้น โลกต้องหาสิ่งที่จะมาทดแทน จึงเป็นโอกาส SAF คล้ายกับการใช้ไบโอดีเซลในน้ำมันรถ”
สำหรับการผลิต SAF จะต้องซื้อ “น้ำมันพืชใช้แล้ว” มาเป็นวัตถุดิบ นำมาสู่ “โครงการทอดไม่ทิ้ง” ตามแนวคิด Fied to Fly ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้น้ำมันพืชใช้แล้ว 1 ล้านลิตรต่อวัน จะซื้อราคา 20 บาท/กก. โดยวางสัดส่วนการผสมตามหลักการบินสากลที่ 2% เช่น หากใช้น้ำมัน 50 ล้านลิตรจะใช้ SAF 1 ล้านลิตร ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 80,000 ตันคาร์บอน
นอกจากนี้ ตั้งเป้าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะพัฒนาระบบบล็อกเชน “book and clam” สำหรับผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านแอปสามารถเลือกใช้น้ำมัน SAF ในเที่ยวบินที่ตนจะโดยสารได้ เพื่อนำไปรับรองว่าเที่ยวบินที่โดยสารมานั้นเป็นการบินแบบ carbon neutrality หักลบแล้วเท่ากับผู้โดยสารคนนั้นมีส่วนช่วยโลก ลดการปล่อยคาร์บอนด้วยตัวเอง
Roadmap สู่ Net Zero
แผนการดำเนินงานสู่ net zero ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามแผน “BCP316 NET” ที่วางไว้ ซึ่ง B ย่อมาจาก breakthrough performance ด้วยการลดการปล่อย carbon footprint ในเครื่องจักรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลง 30% ภายใน 5-7 ปี
ตัว C ย่อมาจาก conserving nature and society อาทิ การปลูกป่า P ย่อมาจาก proactive business growth and transition อาทิ SAF และในอนาคตวางแผนว่าจะลงทุนด้านไฮโดรเจน และการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (CCS)
และสุดท้าย NET ย่อมาจาก net zero ecosystem ซึ่งบางจากฯได้สร้างระบบนิเวศเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ด้วยการลงทุนและโครงการต่าง ๆ อาทิ Winnonie แพลตฟอร์มเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ 24 ชม. เป็นต้น
“ปัจจุบันพอร์ตธุรกิจบางจากฯ ประมาณ 30% ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนแล้ว แต่อีก 70% ที่เหลือยังต้องปรับปรุง แต่มั่นใจว่าในปี 2573 จะปรับพอร์ตธุรกิจให้เป็นสีเขียว 50% และสีเทา 50% ด้วยการสร้างระบบนิเวศผ่านการลงทุนด้านต่าง ๆ ตามแผน”
บาลานซ์ความเสี่ยง 3 ด้าน
ซีอีโอบางจากฯ ยังสรุปว่า วงการพลังงานต้องเผชิญความเสี่ยง 3 ด้าน คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน การเข้าถึงพลังงานในราคาจับต้องได้ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศมีแนวทางดำเนินการแตกต่างกัน อย่างจีน มุ่งรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน สหรัฐถือเป็นประเทศที่ราคาก๊าซธรรมชาติถูกที่สุดในโลก และยุโรปที่เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ส่วนไทยยังต้องรอดูว่า รัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับด้านใด
อย่างไรก็ตาม ในภาคธุรกิจเอง มีการลงทะเบียนจการลงทุน ESG เพื่อให้โลกน่าอยู่และสังคมดีขึ้นนั้น ไม่จำเป็นต้องเจียดเงินลงไป แต่ต้องหาธุรกิจที่ตอบโจทย์และสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ถึงจะเป็น ESG ที่ยั่งยืน