
ราคาน้ำยางดิ่งต่ำกว่า 40 บ./กก. ชาวสวนขาดทุนยับ 20 บาทสหพันธ์สวนยางออกโรงโอด “ประกันรายได้ยาง” ยังจ่ายเงินไม่ครบ หวั่นรัฐบาลใหม่เบี้ยวเงินค้าง ทั้งเตรียมรีดภาษีสวนยาง ทุบซ้ำชาวบ้าน 1 มี.ค. 67 ด้าน กยท.เผยต้นเหตุ ศก.จีนชะลอฉุดตลาดโลก รัฐจ่ายเงินประกันรายได้ยางไปแล้ว 80-90%
ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาน้ำยางในท้องถิ่นได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือเพียง 38 บาท/กก. จากเดือนก่อนที่เคยอยู่ที่ 43 บาท/กก. หรือหายไป 5 บาท โดยราคาระดับนี้ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางขาดทุนจากต้นทุนการผลิต กก.ละ 63.40 บาท หากคำนวณจากปริมาณปลูกยางได้ปีละ 5 ล้านตัน เท่ากับเกษตรกรจะขาดทุนประมาณแสนล้านบาท และไม่เพียงเท่านั้น เกษตรกรชาวสวนยางยังได้รับผลกระทบจากโครงการประกันรายได้ ปี 2565-2566 ซึ่งขณะนี้จ่ายไปได้เพียง 2 เดือน จากงวดการจ่ายทั้งโครงการ 6 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.-มี.ค. 2566
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
สาเหตุที่การจ่ายเงินประกันรายได้ยางล่าช้าเป็นเพราะการบริหารจัดการรวมทั้งการเมืองที่ลากยาวจนมีการตั้งรัฐบาลล่าช้า ไม่ได้คำนึงถึงปากท้อง แทนที่จะเอาใจใส่เรื่องปากท้องราคายางชาวบ้าน โดยการประกันรายได้ยางตอนนี้มีการจ่ายจริงแค่ 2 เดือน คือ ต.ค.กับ พ.ย. นอกจากนั้นไม่มีเงินให้เกษตรกร “ก็ไม่จ่าย วิธีการจ่ายคือจ่ายเฉลี่ย ๆ ไป แต่ไม่คัฟเวอร์ไม่ทั่วถึง” ล่าสุดมีเกษตรกร จ.น่าน 160 กว่ารายที่ร้องเรียนเข้ามาที่สมาคมว่า ยังไม่ได้รับเงินประกันรายได้

ทางสมาคมจึงได้ประสานไปที่กระทรวง แต่ตอนนี้อยู่ในภาวะรัฐบาลรักษาการ “ซึ่งก็ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร” สมาคมมองว่า ถ้าเรานั่งรอรัฐบาลใหม่มาจ่ายเงินประกันรายได้ส่วนที่เหลือก็ไม่แน่ใจว่า นโยบายประกันรายได้จะเป็นนโยบายที่พรรคแกนนำรัฐบาลชุดใหม่จะนำมาใช้หรือไม่ อาจจะมาอ้างว่าไม่ใช่นโยบายเขา เป็นนโยบายของรัฐบาลเก่า ก็จะไม่จ่ายอีก จึงมีโอกาสที่จะไม่ได้เงินส่วนนี้ “ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลมา ใครจะมาทำตามนโยบายของรัฐบาลเก่า”
ดร.อุทัยกล่าวว่า เท่าที่ประเมินพบว่า เกิดความเสียหายหลายชั้น คือ 1) การจ่ายเงินประกันรายได้ยางแค่ 2 เดือนไม่ครอบคลุมส่วนที่เกษตรกรขาดทุนไป เพราะการขาดทุนเกิดจากการที่คำนวณ ราคาประกันตั้งต้นจากต้นทุนการผลิต 60 บาท ทั้งที่ความจริงต้นทุนการผลิต 63.64 บาท นี่ก็ขาดทุนชั้นแรก 3.64 บาท 2) ราคาตลาดตอนนี้ตกต่ำลงเหลือ กก.ละ 40 กว่าบาท ก็เท่ากับขาดทุน กก.ละ 20 บาทซึ่งชาวสวนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการนี้มีจำนวน 1.8 ล้านรายเดือดร้อน ยิ่งภาวะการขาดทุนมาเจอกับสถานการณ์เอลนีโญที่ภัยแล้งกำลังจะมา ประกอบกับเกิดโรคใบร่วงที่เกิดขึ้นยังแก้ไขไม่หมด จึงเรียกว่า “เป็นผีซ้ำด้ำพลอยในอุตสาหกรรมยาง ฟันธงได้เลยว่า ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ไม่มีทางสู้กับตลาดโลกได้”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเก็บภาษีสวนยาง โดยกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ระบุว่า เกษตรกรที่ปลูกยาง 1 ไร่ อัตราการปลูก 80 ต้นขึ้นไป จะเสียภาษี 0.15% ส่วนที่ปลูกอัตราต่ำกว่า 80 ต้นลงมา ต้องเสียภาษี 1.2% ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลไม่เคยเก็บภาษีประเภทนี้ ซึ่งเรื่องนี้ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกษตรกรจะปลูกยางตามกฎหมาย พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 กำหนดอัตราที่ 25 ต้นต่อไร่ นั่นหมายความว่า เกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อย จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงถึง 1.2%
ดังนั้น สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยาง จึงได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ขอให้ “ทบทวน” อัตราการปลูกในประกาศของกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ใหม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยกำหนด กล่าวคือ ปรับจาก 80 ต้น เหลือ 25 ต้น เพื่อลดภาระให้กับเกษตรกรให้เสียภาษีในอัตรา 0.15%
“สมาคมร้องผ่าน กนย. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานไป 5-6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ตอบรับว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร เรามองว่าถ้าเหลือ 25 ต้นต่อไร่ ชาวสวนก็จะยอมเสีย 0.15% ขอให้ช่วยเกษตรกรที่ขาดทุนมาทุกอย่าง และยังต้องเสียเงินเซสอีก กก.ละ 2 บาท แต่รัฐบาลจะให้มาเสียภาษีสวนยางอีก หากไม่ได้รับการแก้ไข สมาคมจะฟ้องศาลปกครองแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวชาวสวนยางพาราไทยไม่มีทางสู้กับตลาดโลกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสายพันธุ์ยางพารา ของมาเลเซียมีสายพันธุ์ให้ผลผลิตน้ำยางสูง 400-500 กก.ต่อไร่ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันเกษตรกรไทยสามารถปลูกได้ผลผลิต 240 กก./ไร่ต่อปี จึงเสนอให้เปลี่ยนสายพันธุ์ยางพาราจาก RIM 600 ไปเป็นสายพันธุ์ RRIT 251 แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก 60% ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเพิ่งจะประกาศอัตราหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ซึ่งเมื่อผู้ใช้ยางหลักประสบปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงการส่งออกยาง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบผลกระทบเบื้องต้นมีเพียงราคาน้ำยางและยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ปรับลดลง แต่สถานการณ์ราคายางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของไทยยังทรงตัวอยู่ในระดับ 40 บาทต่อ กก.

ส่วนความคืบหน้าของโครงการประกันรายได้ยางพารา ปี 4 นั้น ล่าสุดได้รับข้อมูลว่า มีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว 1 ล้านราย หรือคิดเป็น 80-90% แล้ว จะเหลือเพียงเกษตรกรที่มีการแก้ไขคุณสมบัติไม่ครบ หรือมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนน้อยเท่านั้น คาดว่าหากแก้ไขแล้วจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินได้ต่อเนื่องจนครบตามกรอบวงเงินที่วางไว้ ซึ่งในขณะนี้มีการจ่ายไปแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท