โรงหลอมทอง PMR จับมือ เหมืองอัครา สร้างพันธมิตรธุรกิจทองคำ

ม.ล.ปรมาภรณ์ เทวกุล
ม.ล.ปรมาภรณ์ เทวกุล

“ม.ล.ปรมาภรณ์ เทวกุล” ทายาท ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เดินหน้าธุรกิจรีฟายนิ่งโลหะมีค่า ผนึก “อัครา” รับหลอม “ทองคำเหมืองทองชาตรี” ชูจุดแข็งมาตรฐานสากล RJC ส่งออกทั่วโลก มั่นใจพลิกรายได้ขยายตัว เจาะลูกค้าอาเซียนประเดิมโรดโชว์เหมืองทองคำ สปป.ลาว หาพันธมิตรดึงวัตถุดิบทองเข้ามาหลอมในไทยปีหน้า

บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด หรือ Precious Metal Reining Company Limited หรือ PMR ปรากฏชื่อโดดเด่นขึ้นหลังการเปิดตัวเดินหน้า “โครงการทองไทยเพื่อคนไทย” ร่วมกับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส บริษัทจากออสเตรเลียที่เพิ่งจะเริ่มกลับมาเปิดทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี (Chatree Gold Mine) อีกครั้งเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

ขณะที่ คณะอนุญาโตตุลาการ เองก็ได้เลื่อนการตัดสินกรณีข้อพิพาทระหว่าง ราชอาณาจักรไทย กับบริษัท Kingsgate Consolidated Limited บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรีออกไปไม่มีกำหนด

การกลับมาของเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัท อัคราฯ จึงมีความเกี่ยวโยงกับ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า (PMR) ของตระกูลเทวกุล ในข้อที่ว่า PMR จะทำหน้าที่แปรรูปแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัคราฯ เพื่อส่งต่อให้กับ บริษัท ออสสิริส จำกัด แปรรูปเป็นทองคำรูปพรรณต่อไป

เปิดโรงหลอมทองคำ

ม.ล.ปรมาภรณ์ เทวกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด หรือ PMR ทายาทคนโต ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวถึง ทิศทางธุรกิจของบริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า ว่า โรงหลอมโลหะ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอมตะ จ.ชลบุรี จัดเป็นธุรกิจส่วนกลางน้ำของอุตสาหกรรมเครื่องประดับ โดยโรงหลอมได้เปิดดำเนินการในปีแรกก็เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ในประเทศทันที ทำให้ตลาดเครื่องประดับซบเซาลงใน 3 ปีแรกหลังเปิดโรงหลอม

แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ธุรกิจรีไฟน์ของบริษัทจะพลิกกลับมาเป็นบวก โดยมีปัจจัยที่จะมาสนับสนุน จากการที่บริษัทได้รับซื้อ “ทองคำ” จากเหมืองอัคราฯ มาหลอมและส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตจิวเวลรี่หลายราย

ADVERTISMENT

ด้วยจุดแข็งที่บริษัทสามารถผลิตทองและเงินได้ตามมาตรฐานสากลการผลิตจิวเวลรี่ที่เรียกว่า RJC หรือ responsible jewellery council ในระดับที่ได้พัฒนาต่อมาถึง COC คือ code of conduct ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับระดับสากล คล้ายกับมาตรการ LBMA (London Billion Market Association) แต่มาตรฐานของ RJC มีความหมายกว้างกว่า LBMA จะเน้นทองคำ

ส่วน RJC จะครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ ซึ่งการพัฒนาจนได้รับมาตรฐาน RJC นี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่รับบริการ แต่ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมหลอมโลหะมีค่าของประเทศไทยให้ก้าวสู่ความสากล

ADVERTISMENT

“ผลดีอีกด้านคือ การรับทองจากเหมืองที่ผลิตในประเทศไทยมาหลอมและผลิตสินค้าโดยผู้ประกอบการไทย จะมีส่วนช่วยในเรื่องการส่งออกสินค้าที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อนำไปส่งออกภายใต้ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) จะทำให้ได้รับการลดอัตราภาษีนำเข้า ทำให้สินค้าไทยได้เปรียบ และสร้างรายได้กลับมาสู่ประเทศอีกทางหนึ่ง” ม.ล.ปรมาภรณ์กล่าว

รับซื้อทองอัคราฯ

ม.ล.ปรมาภรณ์กล่าวถึง ที่มาที่ไปของการเข้าไปรับทองคำจากเหมืองอัคราฯมาหลอมนั้น เกิดจากการที่บริษัทได้มีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัท อัคราฯ ซึ่งเป็นเหมืองทองเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นเกิดจากลักษณะแร่สายทองคำในไทยไม่ได้เป็นลักษณะเหมือนกับสายแร่ทองคำที่แอฟริกา หรือที่ออสเตรเลีย ที่ขุดขึ้นมา 80-90% ขึ้นไปเป็นทองเลย

แต่สายแร่ทองคำของไทยบางครั้งอยู่ในเกมประมาณ 10% อาจจะมีบวก-ลบจากนั้นบ้าง ขณะที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญจากการรีไฟน์หรือหลอมแร่เงินมาก่อน จึงทำให้มีความสามารถในการแยกเงินได้ปริมาณมาก ประกอบกับบริษัทมาตรฐาน RJC จึงตอบโจทย์

“เราคุยกับทางบริษัท อัคราฯ และรับทองมาหลอมได้ 4-5 เดือนแล้ว หลังจากที่อัคราฯกลับมาเปิดทำเหมืองอีกครั้ง ความจริงเราช่วยหลอมทองมาตั้งแต่บริษัทเริ่มเคลียร์กับอนุญาโตตุลาการ พอเคลียร์เสร็จแล้ว ทางฝั่งราชการก็โอเคหมด ตอนนี้อัคราฯก็ขออนุญาตนำขยะ waste ในระบบกลับมาส่งแยกและหลอมทอง

ซึ่งพอมีโอกาสได้ทำกับอัคราฯก็เป็นช่วงที่ได้ทดลองแล้วผ่านไป 3 ลอตก็พบว่า อยู่ในลักษณะที่เราทำงานได้หลอมทองได้เลยมาคุยกัน อัคราฯก็เริ่มทดสอบโดยการส่ง ดอเร่ มาให้ทำ ก็ทำได้ในคุณภาพและความเร็วที่เขาพอใจ จากสมัยก่อนที่อัคราฯต้องส่งไปรีไฟน์ที่ออสเตรเลีย แล้วทำไมต้องเสียค่าส่งในเมื่อเมืองไทยก็ทำได้เหมือนกัน เราก็หวังว่าอัคราฯจะทำงานร่วมกับเราไปจนสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานเหมือง” ม.ล.ปรมาภรณ์กล่าว

ส่วนปริมาณทองที่อัคราฯส่งมาให้หลอมนั้นประมาณว่า จะมีผลผลิตประมาณ 1-1.5 ตันต่อปี ที่เหลือจะเป็นเงินประมาณ 9 เท่า ซึ่งปริมาณทองคำที่หลอมได้จากเหมืองอัคราฯจำนวนนี้เทียบเท่ากับความต้องการผลิตของผู้จิวเวลรี่ทองเพียงรายเดียวและอาจจะเป็นรายเล็กใน secondary tier ของไทย ขณะที่กำลังการผลิตของบริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า ยังรับได้มากกว่าที่อัคราฯผลิตในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันอัคราฯยังใช้ไม่ถึง 1 ใน 3 ของกำลังผลิตของบริษัท แต่หากในอนาคตถ้าเริ่มขุดแร่ที่เข้มข้นขึ้น น่าจะใช้กำลังผลิตขึ้นไปได้ 2-3 เท่าได้ในปีถัด ๆ ไป

ราคาทองสูงขึ้นไม่กระทบโรงหลอม

สำหรับวิธีการทำงานระหว่าง บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า (PMR) และบริษัท อัคราฯ ทาง PMR จะรับซื้อ “โดเร่” หรือแท่งโลหะเงินที่มีส่วนผสมของทองคำจากเหมืองอัคราฯ แต่ไม่ได้เป็นการจ้างเพราะ PMR ไม่ใช่เทรดเดอร์ แต่เป็นผู้รับรีไฟน์หรือหลอมทอง ทำให้บริษัทต้องมีสต๊อกทองคำปริมาณหนึ่งสำรองไว้เสมอ เมื่อนำมาหลอมก็จะคำนวณราคา ณ วันที่ซื้อขาย

เพราะลักษณะของธุรกิจนี้จะไม่มีใครนำวัตถุดิบทองมาทิ้งไว้กับโรงงานรีไฟน์ แต่จะเป็นการส่งวัตถุดิบทองมาแลกกับทองที่เรามีในสต๊อก ซึ่งบริษัทมีการสต๊อกทองคำในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ไว้ในระดับพอสมควร ซึ่งเมื่อผ่านโควิดมาราคาทองคำในตลาดปรับสูงขึ้นจากตอนที่รับซื้อไว้ นั่นก็เป็นส่วนทำให้เกิด “ส่วนต่าง” ขึ้น

“แม้ว่าสถานการณ์ราคาทองมีการปรับราคาสูงขึ้น แต่ไม่มีผลเพราะเราจะมีการกำหนดราคาที่ขาย ณ วันนั้นเลย โดยเมื่อได้รับทองมาจะจัดการวิเคราะห์ก่อน เพื่อประเมินสัดส่วนเนื้อโลหะมีค่าว่ามีส่วนผสมระหว่างทองคำและเงิน หรือมีเปอร์เซ็นต์เท่าไร ต้องเช็กแบบละเอียดเสร็จแล้วตกลงกัน” ม.ล.ปรมาภรณ์กล่าว

ส่วนทิศทางราคาทองคำนั้น ม.ล.ปรมาภรณ์กล่าวว่า ปะเทศไทยติดอันดับ 4 ในตลาดทองคำโลก รองจาก จีน, อินเดีย, ออสเตรเลีย ซึ่งทองคำถือเป็นวัฒนธรรมของประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีตลาดค้าทองรูปพรรณในประเทศที่สูงมาก มีโครงสร้างธุรกิจที่มีความยูนีค มีร้านทองคำตู้แดงอยู่ทั่วไปหมด แม้แต่ตลาดที่เล็กที่สุด คนไทยซื้อทองเพื่อสะสมแทนเงินและเอามาขายเมื่อราคาสูงขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมนี้กระจายไปถึงระดับรากหญ้า

ต่อมาก็เริ่มมีการเทรดทองคำ ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบเป็นทองคำรูปพรรณ ทองคำแท่ง และการเทรดระบบออนไลน์ ที่มีการซื้อขายสินค้าจริงสะสมไว้ จนถึงการซื้อขายกระดาษในตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยมีการประเมินว่าความต้องการสินค้าเงินในประเทศมีประมาณ 10-20 ตัน ส่วนทองคำมีผู้ค้าจำนวนมากกว่า แค่เฉพาะรายเล็ก ๆ ก็มีปริมาณถึง 600 กิโลกรัมต่อปี และยิ่งเป็นรายใหญ่ก็จะยิ่งมากถึง 100-200 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ สำหรับแผนของบริษัท

หลังจากได้ อัคราฯ เข้ามาเป็นลูกค้าในโรงหลอมแล้ว บริษัทเตรียมจะขยายฐานลูกค้า โดยเริ่มติดต่อทาง สปป.ลาว และกัมพูชามากขึ้น และมีแผนจะเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศลาวในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ลักษณะของการขยายฐานลูกค้าไปที่ สปป.ลาวนั้น ไม่สามารถไปขยายด้วยตัวเองได้ เพราะในแต่ละประเทศจะมีลักษณะวิธีการและระเบียบกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นบริษัทอาจจะแสวงหาพันธมิตรใน สปป.ลาว เพื่อจะเป็นผู้ที่จะรวบรวมและนำเข้าแร่ทองจาก สปป.ลาว ส่งมาหลอมในโรงงานที่ไทย

ทั้งนี้ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า มีรายชื่อผู้ถือหุ้น 5 อันดับแรก ประกอบไปด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (49.50%), ม.ล.ปรมาภรณ์ เทวกุล (20.50%), พุดจีบ เทวกุล (15%), สมหมาย ภาษี (2.50%) และโสภางค์ ภาษี (2.50%) มีกรรมการ 3 คน ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นายสมหมาย ภาษี และนายสมบูรณ์เกียรติ เกษมสุวรรณ