ดีเดย์เปิด “เหมืองทองอัครา” ออสซี่จ่อถอนฟ้องรัฐบาลไทย

เตรียมฟังข่าวดี หลังบริษัท อัครา “คัมแบ็ก” เปิดเหมืองทองคำชาตรี ก.พ.นี้ ขุดทองที่เหลืออีก 30 ตัน เทงบลงทุนเดินเครื่อง 600 ล้านบาท เปิดรับงานตำแหน่งใหม่ 170 อัตรา คนในพื้นที่แห่สมัครเกือบ 1,700 คนรองรับเงินหมุนเวียน 3,000 ล้านบาทต่อปี ด้านวงในคาดการณ์ Kingsgate พร้อมยุติข้อพิพาทในอนุญาโตตุลาการก่อนเส้นตายสิ้นปี 2566

ข้อพิพาทระหว่าง บริษัท Kingsgate Consolidate Limited กับรัฐบาลไทย กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งที่ 72/2559 ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมไปถึง คำขอต่ออายุประทานบัตร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 โดยบริษัท Kingsgate ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัท อัคราฯ เห็นว่า เป็นคำสั่งปิดเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลไทย และคำสั่งนี้ยัง “ละเมิด” ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (FTA)

นำไปสู่การที่บริษัท Kingsgate ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2560 “คู่ขนาน” ไปกับการเปิดเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อยุติข้อพิพาท และนำไปสู่การต่ออายุประทานบัตรเพื่อให้บริษัท อัคราฯ กลับมาทำเหมืองได้อีกครั้งในปี 2563 ล่าสุดบริษัท อัคราฯ ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบความพร้อมในการเปิดเหมืองแล้ว และกำหนดการที่จะเปิดเหมืองภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาข้อพิพาทในคณะอนุญาโตตุลาการ จนมีสัญญาณบวกจาก บริษัท Kingsgate พร้อมที่จะยุติข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย ก่อนที่จะถึงเส้นตายในเดือนธันวาคม 2566

นับถอยหลังเปิดเหมืองทอง

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา บริษัท อัคราฯ ได้ยื่นหนังสือไปยัง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร เพื่อขออนุญาตในการเปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่ จ.พิจิตร หลังจากที่บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมทั้งในส่วนของโรงงานแห่งที่ 2 และเครื่องจักรไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยเงินกว่า 500-600 ล้านบาท โดยขั้นตอนต่อจากนี้ไป กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ (กพร.) ก็จะส่งทีมเจ้าหน้าที่ (ตรวจเปิด) เพื่อตรวจสอบความพร้อมทั้งในส่วนของตัวโรงงาน เครื่องจักร คน รถบรรทุก สารเคมีที่ต้องใช้ในการทำเหมือง

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ

จากนั้นทีมเจ้าหน้าที่ก็จะส่งรายงานผลการตรวจเปิดและรอการเซ็นอนุมัติจากทาง กพร. ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-20 วัน ดังนั้นเหมืองทองคำชาตรีจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ระหว่างนี้ควบคู่ไปกับการเปิดเหมือง บริษัท อัคราฯ ได้เปิดรับสมัครพนักงานจำนวน 170 อัตรา ในตำแหน่งงานทั่วไป ปรากฏมีชาวบ้านรอบ ๆ พื้นที่ทำเหมืองให้ความสนใจสมัครเข้ามากว่า 1,700 คน หรือ “เกินกว่าอัตราที่เราจะรับไว้มาก” แสดงให้เห็นถึงการที่บริษัทให้ความสำคัญกับชุมชนรอบเหมืองเป็นอันดับแรก ด้วยสัดส่วนการจ้างงานคนในพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 90% จากเดิมอยู่ที่ 80% เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวก

อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดดำเนินกิจการเหมืองทองคำชาตรี หลังจากที่เหมืองถูกปิดไปเป็นเวลาถึง 6 ปี บริษัท อัคราฯ ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขและข้อปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (2560) ที่ “เปิดช่อง” ให้บริษัทสามารถยื่นดำเนินการต่ออายุประทานบัตรและต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม แม้บริษัทจะยังอยู่ในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการเพื่อยุติข้อพิพาทกับทางรัฐบาลไทยก็ตาม จน กพร.ได้พิจารณาต่ออายุประทานบัตรและต่ออายุใบอนุญาตโรงโลหกรรมให้ช่วงปลายปี 2564

“การเปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำครั้งนี้จึงเป็นการต่อใบอนุญาตจากประทานบัตรเดิม เนื่องจากอัคราฯได้สิทธิในการทำเหมืองแร่ทองคำอยู่ก่อนแล้ว และถูกสั่งระงับไม่ต่อใบอนุญาตทำเหมืองให้ ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่การเปิดเหมืองในส่วนที่เป็นประทานบัตรใหม่ หรือได้รับการอนุญาตใหม่ จากนั้นก็เริ่มซ่อมโรงงานที่ 2 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการถลุงแร่ดีกว่าโรงที่ 1 ทำให้ตอนนี้เรามีแค่โรงเดียวทำการถลุงรอบใหม่ได้เพียง 1 ตันทองคำ/ปี จากเดิมที่เคยถลุงแร่ทองสุูงสุด 2 โรง รวมกันได้ประมาณ 5 ตันทองคำ/ปี” นายเชิดศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ เหมืองแร่ทองคำชาตรีประมาณการสำรวจปริมาณแร่ทองคำในเหมืองทั้งหมด 80 ตันทองคำ ปัจจุบันมีการทำเหมืองได้ทองคำไปแล้ว 50 ตันทองคำ คงเหลือทองที่จะต้องทำเหมืองต่อไปได้อีก 30 ตัน และเป็นที่มาของการจัดลำดับความต้องการอันดับแรกภายใต้กระบวนการพิจารณาคู่ขนานเพื่อยุติข้อพิพาทกับรัฐบาลไทยของ บริษัท Kingsgate ก็คือ การกลับมาเปิดดำเนินการทำเหมืองต่อเพื่อนำทองคำที่เหลืออยู่ในพื้นที่อีก 30 ตันทองคำขึ้นมา ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 15 ปีขึ้นไป

จับมือโรงถลุงขายทองใน ปท.

นายเชิดศักดิ์ได้กล่าวถึงกระบวนการถลุงแร่ทองคำที่เหมืองทองคำชาตรีหลังเปิดดำเนินการว่า จะเริ่มจากการทำบล็อกโมเดลของพื้นที่เพื่อตีกรอบการขุดให้ได้สินแร่ขึ้นมาบดละเอียดแล้วส่งต่อเข้าโรงโลหกรรม เพื่อละลายด้วยสารไซยาไนด์ จากนั้นจะทำการแยกโลหะทองคำและเงินด้วยเซลล์ไฟฟ้าและนำมาหลอมไล่มลทิน ผลผลิตที่ได้จะมีลักษณะเป็น “แท่งโลหะผสมทองคำ” ประมาณ 10-12% และเป็นเงินประมาณ 88% จากนั้นจะส่งไปยังโรงถลุงโลหะของบริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด หรือ PMR เพื่อถลุงเป็น “ทองคำแท่งบริสุทธิ์ 99.99%” ตามมาตรฐานสากลการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Responsible Jewellery Council : RJC) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่มีเกณฑ์เข้มงวดและครอบคลุมไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย

“การที่บริษัท อัคราฯ ไปจับมือกับ PMR ทำให้กระบวนการผลิตทองคำแท่งบริสุทธิ์ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมด จากเดิมที่อัคราฯต้องส่งออกแท่งโลหะผสมทองคำออกไปถลุงที่ต่างประเทศ การเกิดขึ้นของโรงถลุงโลหะที่ได้มาตรฐานสากลทั้งมาตรฐาน RJC หรือมาตรฐาน LBMA ของสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอน (London Bullion Market Association) ในประเทศไทย บริษัท อัคราฯ สามารถขายทองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศเบ็ดเสร็จต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในอนาคตโรงถลุงโลหะเหล่านี้ยังสามารถรับถลุงทองเกรดต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย จึงเป็นโอกาสดีของบริษัท อัคราฯ ที่จะเป็นฐานให้ประเทศเพื่อนบ้านศึกษา ในฐานะที่เราเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ใช้เทคโนโลยี และเป็นผู้ transform เข้ามา” นายเชิดศักดิ์กล่าว

ใส่เงิน 4 กองทุนหมู่บ้าน

สำหรับการขออนุญาตสำรวจแร่ทองคำนั้น ที่ผ่านมา บริษัท อัคราฯ ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้เป็นจำนวนมาก แต่ขณะนี้ได้รับการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพียง 44 แปลง หรือ 400,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ บริษัทได้ใช้สิทธิการในสำรวจมาแล้ว 2 ปีกว่า ทั้งด้านธรณีวิทยา เคมี การวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี คาดว่าต้องใช้เงินถึง 800 ล้านบาท ในส่วนนี้ได้ใช้เงินไปแล้วประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อจ้างบริษัทในพื้นที่ที่เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยซัพพอร์ตด้านอุปกรณ์เจาะสำรวจ และยังมีทีมเข้าซัพพอร์ตในเรื่องต่าง ๆ อีกกว่า 300 คน ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น 4-5 ล้านบาท/เดือน ซึ่งยังไม่รวมหลังจากที่เหมืองทองคำชาตรีเปิดอย่างเต็มรูปแบบแล้ว คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้าระบบอีกกว่า 3,000 ล้านบาท/ปี

ส่วนการดำเนินการในเรื่องของ “กองทุน” ตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นั้น บริษัท อัคราฯ จะต้องตั้งกองทุน 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่, กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่, กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง โดยบริษัทจะต้องนำเงินเข้ากองทุนในอัตรา 21% ของค่าภาคหลวงแร่ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี

ด้านความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทระหว่าง บริษัท Kingsgate กับรัฐบาลไทย ซึ่งยังคงอยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น ล่าสุดอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้เลื่อนการตัดสินออกไปเป็นเดือนธันวาคม 2566 จากที่ต้องตัดสินเมื่อสิ้นปี 2565 ในประเด็นนี้มีรายงานข่าวเข้ามาว่า อนุญาโตตุลาการตกลงให้คู่กรณีเจรจาประนีประนอมเพื่อยุติข้อพิพาท อันเป็นที่มาของการเจรจา “คู่ขนาน” โดยบริษัท Kingsgate มีเป้าหมายสำคัญที่สุดอยู่ที่การได้กลับเข้ามาทำเหมืองทองคำชาตรีต่อไป “มากกว่า” การได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกคำสั่งปิดเหมือง “การเปิดเหมืองครั้งใหม่นี้ส่วนหนึ่งก็คือ การเจรจากันที่สำเร็จและจะนำไปสู่การถอนฟ้องกันได้ โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่อนุญาโตตุลาการตัดสินในเดือนธันวาคม 2566” แหล่งข่าวกล่าว