บีโอไอเคาะมาตรการใหม่ ส้มหล่นเหมืองทอง-โพแทช

เหมืองแร่

จับตาบอร์ดบีโอไอ 17 ต.ค. 2565 เคาะส่งเสริมกลุ่มเหมืองแร่ที่มีศักยภาพ ลุ้น “เหมืองทอง เหมืองโพแทช” ได้อานิสงส์ ด้าน กพร. เตรียมจ่ายเยียวยาชุมชนรอบเหมืองแร่โพแทชอุดรฯ ก้อนแรก 1,200 ล้านบาท หลัง “เอเซีย แปซิฟิคฯ” เดินเครื่องก่อสร้าง 3 ปี กำหนดต้องขายในประเทศก่อน 700,000 ตัน ไทยพร้อมผลิตปุ๋ยใช้เอง

แหล่งข่าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) วันที่ 17 ต.ค. 2565 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน อาจมีการพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ 3 ประเภทกิจการ คือ 1.กิจการสำรวจแร่

2.กิจการการทำเหมืองแร่และ/หรือแต่งแร่ 3.กิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรมเฉพาะแร่ที่มีศักยภาพ เพื่อเปิดโอกาสในการลงทุนสำหรับเหมืองแร่ประเภทอื่นเพิ่มเติม จากเดิมที่สนับสนุนเฉพาะแร่โพแทชเท่านั้น และยังเป็นการเพิ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ วัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างแร่แรร์เอิร์ทที่ใช้เป็นส่วนสำคัญในการผลิตชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งตามที่เอกชนร้องขอให้พิจารณาคือ การได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (A2) และยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรของนำเข้าเพื่อวิจัย ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี ส่วนกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรมเฉพาะแร่ที่มีศักยภาพก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A2 เช่นกัน

“เหมืองที่จะได้อานิสงส์คือเหมืองแร่โพแทชและเหมืองทอง ซึ่งทั้งสองนี้ได้ทั้งประทานบัตรที่กำลังจะเริ่มขุดและอีกเหมืองกำลังฟื้นกลับมาเปิดใหม่เพื่อขุดอีกครั้งในต้นปี 2566 นี้”

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลังจากที่ได้รับประทานบัตรแล้ว กฎหมาย พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 กำหนดให้มีการตั้งกองทุนเยียวยาและชดเชยให้กับชุมชน

โดยรอบ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับประทานบัตร (7 ต.ค. 2565) ให้ผู้ถือประทานบัตรผ่อนชำระค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ให้ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินที่มีการทำเหมืองใต้ดิน ซึ่งกำหนดจ่ายงวดแรก 10% ในวันที่ 15 ม.ค. 2566 ของวงเงิน 45,500 บาท/ไร่ (4,550 บาทต่อไร่) และที่เหลือ (งวดที่ 2-23) ให้แบ่งชำระงวดละ 1,780 บาทต่อไร่ต่อปี โดยชำระภายในวันที่ 15 ม.ค.ของทุกปี