
ม.หอการค้าไทย เผยส่งออกไทยปี 2567 พลิกกลับมาเป็นบวกโต 3.6% จากปี 2566 ที่หดตัว 2% โดยยังต้องติดตามเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงเศรษฐกิจคู่ค้า ขณะที่ปัญหาสงครามยังคงต้องติดตาม แต่มั่นใจไม่ขยายเป็นวงกว้าง ส่วนไตรมาส 4 ปี 2566 ติดลบ 6.8%
วันที่ 17 ตุลาคม 2566 นายพูนทวี ชัยวิจิตมลากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง “วิเคราะห์ส่งออกไทย ไตรมาส 4 ปี 2566 และคาดการณ์ ปี 2567 ว่า การส่งออกไตรมาส 4 คาดว่าจะขยายตัว 6.8% มีมูลค่า 70,502 ล้านเหรียญสหรัฐ จากไตรมาส 3 ปี 2566 ที่คาดว่าจะหดตัว 3.2% ขณะที่การส่งออกไทยทั้งปี 2566 คาดว่าจะยังหดตัว 2% ที่มูลค่าประมาณ 281,500 ล้านดอลลาร์
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกไทยในไตรมาส 4 เช่น เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าคู่แข่ง สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมไปถึงประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ เป็นต้น

ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องอยู่ที่ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ผลดีต่อการส่งออก ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้น มีผลต่อการนำเข้าและโอกาสส่งออกของไทย รวมไปถึงนโยบายผลักดันการส่งออกในโค้งสุดท้ายของรัฐบาล เช่น รักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่า
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทย เช่น อัตราดอกเบี้ยประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง เช่น อังกฤษ สหรัฐ รัสเซีย ออสเตรเลีย ยุโรป เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและมีผลต่อการบริโภค การลงทุน ภาระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือน แต่ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าต่างประเทศ ทำให้มีค่าเงินที่แนวโน้มอ่อนค่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจสหรัฐเศรษฐกิจจีน ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง รวมไปถึงญี่ปุ่นและยุโรป ราคาส่งออกไทยยังคงมีราคาสูง ต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยสูงกว่าหลายประเทศ อย่างมาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน
รวมไปถึงราคาน้ำมันที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าให้สูงขึ้น ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 88-93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าจ้างและปัญหาเอลนีโญที่มีผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่อาจจะลดลงราว 2.2-6.5%
สินค้าเด่น
สำหรับสินค้าเด่นในการส่งออกไตรมาส 4 ที่จะผลักดันให้การส่งออกขยายตัว เช่น ทุเรียน ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าวโพด ถั่ว ไข่ไก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผักกระป๋อง ผักแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม้แปรรูป เครื่องสำอาง เครื่องหอม สบู่ ท่อเหล็กและน้ำมันเบนซิน
ส่วนสินค้าเสี่ยงที่จะมีผลต่อการส่งออก เช่น กาแฟ สัตว์น้ำจำพวก ปู ตะพาบ อาหารทะเลกระป๋อง เช่น ทูน่า ปู กุ้ง และปลาหมึก แป้งข้าวเหนียว ฮาร์ดดิสไดรฟ์ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เม็ดพลาสติก พวกสไตรีน ไวนิวคลอไรด์ เครื่องประดับอัญมณีเทียม น้ำมันก๊าซ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว เป็นต้น
คาดการณ์ส่งออกปี 2567
นายพูนทวีกล่าวว่า คาดว่าการส่งออกปี 2567 ขยายตัว 3.6% มีมูลค่า 291,773 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนคืออัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศชะลอตัวส่งผลต่อความต้องการสินค้าและนโยบายผลักดันการส่งออกของรัฐบาล ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงติดตามยังคงเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมองว่าชะลอ IMF คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.9% ส่วนปี 2566 ขยายตัว 3% ตัวรวมไปถึงหลายประเทศ อย่างเช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย จีน ออสเตรเลีย ที่ยังคงชะลอตัว
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงค่าเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันดิบจะมีผลต่อต้นทุนและราคาสินค้า ปัญหาเอลนีโญและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ยังคงต้องติดตามอย่างจีน-สหรัฐ รัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งของจีน-ไต้หวัน แม้กระทั่งข้อพิพาททะเลจีนใต้ ล่าสุดสงครามอิสราเอลและฮามาส
สงครามอิสราเอล
ทั้งนี้ หอการค้าได้ประเมินสงครามอิสราเอลและฮามาสที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยไว้สามกรณีคือ 1.กรณีสงครามยืดเยื้อ (โอกาสเกิด 30%) ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 370 ล้านดอลลาร์ ส่งออกหดตัว 0.1%
2.กรณีสงครามยืดเยื้อจนปิดเส้นทางขนส่ง (โอกาสเกิด 10%) ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 850 ล้านดอลลาร์ ส่งออกหดตัว 0.3%
3.กรณีสงครามขยายวงกว้างทั่วตะวันออกกลาง (โอกาสเกิดน้อยกว่า 5%) ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 4,770 ล้านดอลลาร์ ส่งออกหดตัว 1.7%