สงครามอิสราเอล-ฮามาส เอฟเฟ็กต์ค่าเงิน จับตาดีกรี “ยืดเยื้อ-รุนแรง”

สงครามเอฟเฟ็กต์

“ไทยพาณิชย์-กรุงไทย” ประเมินสงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” กระทบ “ค่าเงิน-ฟันด์โฟลว์” น้อย ชี้ต้องติดตามระยะต่อไปลามแค่ไหน จับตากรณีเลวร้ายสุด “ราคาน้ำมัน-บอนด์ยีลด์พุ่ง” อาจกดดัน “บาทอ่อน”

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากสถานการณ์สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ในแง่ผลกระทบต่อค่าเงินบาทค่อนข้างจำกัด และไม่กระทบอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในระยะสั้นอาจเห็นค่าเงินเคลื่อนไหวในกรอบ 36.80-37.30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากคนกังวล จึงมีแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยง และโยกไปอยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์ ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า และราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี หากดูทิศทางค่าเงิน เมื่อวันที่ 10 ต.ค. จะเห็นว่าค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ตลาดมีมุมมองว่า เฟดจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้แล้ว รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่า และเงินบาทกลับมาแข็งค่า ภายใต้ที่มีสถานการณ์สงครามอยู่

สะท้อนว่าตลาดให้น้ำหนักเรื่องนโยบายการเงินของเฟดมากกว่าเรื่องสงคราม ส่วนทิศทางฟันด์โฟลว์ยังไม่พบสัญญาณเทขายจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นสุทธิราว 3,000 ล้านบาท แม้ว่าจะมีเงินไหลออกในตลาดบอนด์ราว 2,000 ล้านบาท รวมกันยังคงเป็นไหลเข้าสุทธิ สะท้อนว่าสงครามยังคงไม่ได้มีผล

วชิรวัฒน์ บานชื่น
วชิรวัฒน์ บานชื่น

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปอาจต้องติดตามความขัดแย้งของสงครามจะลามไปสู่ประเทศอื่นหรือไม่ เช่น กรณีที่อิหร่าน หรือซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมสงคราม กรณีเลวร้ายสุด (worst case) ภายใต้สงครามปะทุ ทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวสูงทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล บอนด์ยีลด์ขึ้นไป 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.65% ก็มีโอกาสเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปแตะที่ระดับ 38.00 บาท/ดอลลาร์ได้

“ผลกระทบจากสงครามต่อค่าเงิน ไม่ได้กระทบอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าวันที่เริ่มเกิดเหตุการณ์เงินบาทจะอ่อนค่าไป 0.4% แต่ก็กลับมาแข็งค่า เพราะนักลงทุนไม่ได้ให้น้ำหนักว่าสงครามจะรุนแรง ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นเงินบาทวิ่ง คือ สงครามจะต้องกระจายไปประเทศอื่น

ซึ่งโอกาสที่จะเห็นสหรัฐเข้าร่วมก็น้อย เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง จึงไม่อยากให้มีปัญหาเรื่องราคาน้ำมันแพง จะทำให้เงินเฟ้อไม่ลง และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ อาจจะอยู่ลำบาก”

นายวชิรวัฒน์กล่าวด้วยว่า ยังคาดว่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะมีแนวโน้มแข็งค่ากลับมาอยู่ที่ 35.00-36.00 บาท/ดอลลาร์ ภายใต้ราคาน้ำมันไม่ปรับขึ้น ส่งออกกลับมาดีขึ้น นักท่องเที่ยวกลับมา ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดการเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผลจากสงคราม จะมีผลต่อค่าเงินบาทค่อนข้างจำกัด และมีทั้งปัจจัยกดดันค่าเงินบาทและพยุงค่าเงินบาท จึงมองกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 36.80-37.25 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ แม้ว่าความเสี่ยงจากสงครามรอบนี้จะอยู่ที่ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวสูงได้ เนื่องจากเป็นความขัดแย้งที่อยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงหากสงครามมีการขยายวงกว้าง ทำให้อิหร่านยุติการส่งออกน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็จะกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้ แต่ราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นไปที่ระดับ 1,850-1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนค่าเงินบาทได้

“กรณีเลวร้ายสงครามขยายวงกว้างสหรัฐมีการคว่ำบาตรอิหร่าน จนมีการยุติส่งออกน้ำมัน และราคาน้ำมันขึ้นสูง เงินบาทอาจจะช็อกได้ แต่คิดว่าไม่น่าผ่าน 37.50 บาท/ดอลลาร์ เพราะราคาทองคำก็ช่วยพยุงไว้ ส่วนฟันด์โฟลว์ บ้านเราเป็น safe haven จะเห็นนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นพลังงาน ทำให้ภาพรวมฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าสุทธิในช่วงนี้”