ส่งออกไทย 9 เดือนติดลบ 3.8% จับตา “สงครามอิสราเอล” ดันราคาน้ำมันพุ่ง

กีรติ รัชโน
กีรติ รัชโน

ส่งออกไทย 3 ไตรมาสแรกปี’66 หด 3.8% พาณิชย์กัดฟันยืนเป้าหมาย 1-2% เร่งสปีดโค้งสุดท้าย หวังอานิสงส์แล้งหนุนส่งออกอาหาร ชี้ “สงครามอิสราเอล” ยังอยู่ในวงจำกัด ขนส่งทางเรือไม่สะดุด ค่าระวางเรือยังนิ่งประคองได้ จับตา “ราคาน้ำมันดิบโลก” ขยับ

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออก 9 เดือนของปี 2566 (มกราคม-กันยายน) มีมูลค่า 213,069.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 1.2% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 218,902.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.0% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทย 9 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุลการค้า 5,832.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ล่าสุดเดือนกันยายน 2566 ส่งออกมีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.1% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 1.0% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,383.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 8.3% และไทยเกินดุล 2,092.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

               

เมื่อดูภาพรวมรายสินค้า 9 เดือนจะพบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม หดตัว 2% เช่น กลุ่มอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัว 12% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ยางพารา หดตัว 30.3% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ไก่แปรรูป หดตัว 11.2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัว 3.9% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัว 7.9% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11

ส่วนหมวดสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 3.7% และสินค้าที่หดตัวสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 24.3% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 5.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัว 27.7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม หดตัว 15.8% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัว 34.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญ 9 เดือนแรก หดตัวเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐ หดตัว 1.2% จากเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม, จีน หดตัว 1.3% จากผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ญี่ปุ่น หดตัว 0.1% จากสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก สหภาพยุโรป 27 ประเทศ หดตัว 4.7% จากเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบยางพารา

ตลาดอาเซียน 5 ประเทศ หดตัว 6.9% จากสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ CLMV หดตัว 16.2% จากอัญมณีและเครื่องประดับ อุปกรณ์รถยนต์และส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ ส่วนเอเชียใต้ หดตัว 10.6% จากอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ทวีปออสเตรเลีย หดตัว 0.8% จากอุปกรณ์รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ

นายกีรติกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม 2566) จะดีขึ้นต่อเนื่อง และน่าจะติดลบน้อยกว่าที่หลายสำนักได้มีการคาดการณ์เอาไว้ มีปัจจัยบวกจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เร่งแก้ไขปัญหาและผลักดันการส่งออก มีการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นจากภาวะภัยแล้ง ค่าเงินบาทที่ทรงตัวขณะนี้ เป็นตัวช่วย

และยังมีเรื่องการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้การส่งออกดีขึ้น จึงคงเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2566 ว่าจะยังขยายตัว 1-2% เช่น หากส่งออก 3 เดือนสุดท้ายเฉลี่ยเดือนละ 25,743 ล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัว 1% แต่หากทำได้เดือนละ 24,785 ล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัว 0% แต่หากทำได้เพียง 23,827 ล้านเหรียญสหรัฐ จะติดลบ 1%

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส ซึ่งขณะนี้ยังมองว่าอยู่ในวงจำกัด และไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งทางทะเล ค่าระวางเรือราคายังทรงตัว ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ยังมีเพียงพอ แต่มีปัจจัยราคาน้ำมันยังคงน่าห่วง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับภาคเอกชนเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว ส่วนปัจจัยอื่นการคงอัตราดอกเบี้ยสูง อุปสงค์ทั่วโลกยังชะลอตัว ที่กระทบต่อภาคส่งออก

“แม้ตัวเลขการส่งออกจะไม่พลิกกลับมาเป็นบวก แต่เชื่อว่าจะทำให้ติดลบน้อยลง และเมื่อทำเต็มที่แล้ว จะบวกหรือจะลบก็ไม่เสียใจ”

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกในเดือนกันยายน 2566 ดีกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจากสถานการณ์ตอนนี้ประเมินว่าทั้งปีน่าจะติดลบ 1% โดยยังมองว่ายังมีแรงหนุนจากก่อนหน้านี้ที่ผู้นำเข้าเร่งสั่งซื้อ เพื่อรองรับความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาล

“ปัญหาอิสราเอล-ฮามาส สงครามยังอยู่ในวงจำกัด ยังไม่มีผลกระทบในภาคการขนส่งทางทะเล ค่าระวางเรือยังเป็นปกติ ตู้คอนเทนเนอร์ยังมีปริมาณหมุนเวียนเพียงพอเทียบกับก่อนสถานการณ์โควิดยังถือว่าดีมาก แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคงเป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่อาจจะสูงขึ้น ภัยสงครามขยายตัวและมีความรุนแรง โดยต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป”