ส่งออก ก.ย. 66 โต 2.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แรงหนุนสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรม

กีรติ รัชโน

พาณิชย์เปิดตัวเลขส่งออกเดือนกันยายน 2566 ขยายตัว 2.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากปัจจัยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ปัญหาสงครามยังต้องติดตาม ย้ำยังไม่ส่งผลกระทบ หากจะให้ทั้งปีส่งออกขยายตัว 1% สามเดือนจากนี้จะต้องส่งออกให้ได้ 25,743 ล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือนกันยายน 2566 พบว่ามีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 1.0% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,383.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 8.3% ผลให้ดุลการค้าของไทยเดือนกันยายน ไทยเกินดุล 2,092.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยปัจจัยหนุนการส่งออกไทยขยายตัว สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่องยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาร์เซลล์ และโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตโลกเดือนนี้ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว การฟื้นตัวของตลาดหลักยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน ชะลออุปสงค์ทั่วโลก ทั้งนี้ การส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 213,069.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 1.2% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 218,902.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.0% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทย 9 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,832.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 12.0% (YoY) พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 17.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.4% พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว

ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 166.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม และฮ่องกง) ข้าว ขยายตัว 51.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐ มาเลเซีย และเบนิน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 3.7% กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้) น้ำตาลทราย ขยายตัว 16.3% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ไต้หวัน และสิงคโปร์)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัว 12.0% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ จีน และอาร์เจนตินา) ยางพารา หดตัว 30.3% หดตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดตุรกี ฝรั่งเศส กัมพูชา โรมาเนีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

ไก่แปรรูป หดตัว 11.2% หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และไอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ แคนาดา ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และฝรั่งเศส) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัว 7.9% หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเยอรมนี แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อิตาลี อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2.0%

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว (หลังจากขยายตัวเดือนก่อนหน้า) 0.3% (YoY) แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 3.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซียและซาอุดีอาระเบีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 27.3% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง อิตาลี สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม และญี่ปุ่น) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 23.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอแลนด์และเม็กซิโก)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 24.3% หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ เนเธอแลนด์ และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดจีน ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 5.5% หดตัวต่อเนื่อง10 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์

แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และอินเดีย) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัว 34.6% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และเบลเยียม แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อิตาลี อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ และเยอรมนี) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของ ปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 3.7%

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

นายกีรติกล่าวว่า การส่งออกในไตรมาส 4 ของปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่ต่างออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอุปสรรคด้านห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้าที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ขณะที่กระแสความมั่นคงทางอาหาร และแรงส่งจากภาคบริการและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปลายปีจะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารที่ไทยมีศักยภาพ

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้ตามเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานสะอาด โดยกระ ทรวงพาณิชย์ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและเดินหน้าเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ ๆ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งอาจขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าของโลกในระยะถัดไป

โดยการส่งออกทั้งปี 2566 เป้าหมายการทำงานยังตั้งเป้าไว้อยู่ที่ 1% โดยหากการส่งเฉลี่ย 3 เดือนจากนี้ ถ้าจะทำให้การส่งออกขยายตัว 1% การส่งออกจะต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 25,743 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากจะให้การส่งออกขยายตัว 0% การส่งออกเฉลี่ยจากนี้จะต้องอยู่ที่ 24,785 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากการส่งออกติดลบ 1% การส่งออกเฉลี่ยจากนี้จะต้องอยู่ที่ 23,827 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทั้งนี้ จากภาพรวมเชื่อว่าการส่งออกทั้งปีคาดว่าจะติดลบน้อยที่สุดจากที่หลายฝ่ายคาดไว้

จัดกิจกรรมดันส่งออก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมการส่งออก จากนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังมีหลายกิจกรรม ทั้งนำคณะผู้ประกอบการออกไปร่วมแสดงสินค้าในต่างประเทศ หรือการเปิดเจรจาการค้าทั้งสองฝ่าย โดยกิจกรรมทั้งปีมีทั้งสิ้น 73 กิจกรรม นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมภายในประเทศเพื่อผลักดันการส่งออก

อย่างไรก็ดี ส่วนปัญหาสงครามทั้งรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา และล่าสุดอิสราเอล-ฮามาส ยังเชื่อว่าผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจสามารถปรับตัวเพื่อทำให้การทำธุรกิจและการส่งออกเดินหน้าไปได้