กางแผนปั๊ม จีดีพีปศุสัตว์ ดัน “ส่งออกวัว-ร่วมทุนเอกชนลุยวัคซีน”

ไชยา พรหมา
สัมภาษณ์

รัฐบาลเศรษฐาตั้งเป้าเดินหน้าเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี จากเมื่อปี 2566 จีดีพีภาคเกษตรกรรมของไทยเติบโตเพียง 0.3% เป็นผลจากหลายปัจจัยความท้าทายหลายด้าน ซึ่งแนวทางหนึ่งในการที่จะเพิ่มรายได้เกษตรกรคือ การสร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้มีอาชีพในด้านปศุสัตว์ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายไชยา พรหมา” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางการดำเนินงาน

เปิดตลาด “วัว” เวียดนาม

เมื่อก่อนอาชีพการเลี้ยงสัตว์หรือปศุสัตว์เป็นอาชีพรอง หรืออาชีพเสริม แต่เราพยายามที่จะทำให้อาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก ซึ่งไม่เพียงการส่งออกโคมีชีวิต แต่เรายังพยายามส่งเสริมเรื่องการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าปศุสัตว์ด้วย ผมพยายามจะทำให้สินค้าไทยมีศักยภาพ

วันนี้เราก็กำลังจะคลิกออฟ ส่งสิ่งมีชีวิตไปต่างประเทศทางเรือได้เป็นครั้งแรก จากเดิมที่ส่งออกทางรถยนต์ตามชายแดน โดยคำสั่งซื้อลอตแรกเป็นการส่งออกโคมีชีวิตไปเวียดนาม 2,000 ตัว เดือนมีนาคม 2567 นี้

“หากผลักดันการส่งออกไปได้ กลไกในประเทศจะมีการขยับ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในประเทศอย่างเร็วที่สุด จากเดิมมีปัญหาราคาโคหรือวัวในประเทศตกต่ำ เพราะผลผลิตล้นตลาด ส่งออกไม่ได้เพราะถูกปฏิเสธและถูกกีดกันจากประเทศคู่ค้าจากปัญหาโรคปากและเท้าเปื่อย”

จีนรอสั่งอีก 5 แสน-ล้านตัว

ล่าสุดนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) ไปเจรจาตลาดจีน เพื่อผลักดันโคไทยไปตลาดจีน แต่ยังติดปัญหาเรื่องโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย ทำให้การส่งออกเราต้องไปใช้ช่องทาง สปป.ลาว และต้องกักโรคประมาณ 75 วัน เพื่อดูเรื่องของการกักโรคปากและเท้าเปื่อย 28 วัน และดูเรื่องสารเร่งเนื้อแดงอีก 47 วัน

“เรื่องนี้เป็นการผลักดันงาน ในช่วง 4 เดือนที่ผมเข้ามาดูแลกรมปศุสัตว์ ถึงจะสามารถส่งออกไปจีนได้ เพราะดูเรื่องโรค และสารเร่งเนื้อแดง สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา แต่เป้าหมายคือ เราต้องการส่งตรงไปถึงจีน ผมคิดว่าถ้าเราสามารถผลักดันการส่งออกได้ นี่คือตลาดใหญ่ ความต้องการในตลาดจีน ในขณะนี้ที่ผมได้รับการประสานมา เริ่มแรกจะมีออร์เดอร์ปีละ 5 แสนตัวถึง 1 ล้านตัว และยังมีความต้องการสินค้าแปรรูปด้วย นี่จึงเป็นอีกเรื่องที่เราขับเคลื่อน”

ADVERTISMENT

จีนขอตั้ง “ศูนย์กักโรค”

การแก้ปัญหาเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อย ที่เราถูกกล่าวหาทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะเรามีโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยจำนวนมาก เรากำลังจะทำศูนย์กักกันโรคเพื่อการส่งออก โดยให้ทางรัฐบาลจีน คือ หน่วยงานว่าด้วยสุขภาพสัตว์ของจีนมาตรวจสอบฟาร์มในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เราเลือกสถานที่แล้วคือ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ในส่วนของภาคใต้ และที่ อ.แม่สอด จ.ตาก กับที่ อ.เชียงแสง, อ.เชียงคาน, จ.นครพนม และ จ.สุรินทร์

“แผนการตั้งศูนย์กักกันโรคเพื่อการส่งออก เพื่อเป็นไปตามมาตรฐาน ทำตามมาตรฐานประเทศคู่ค้าที่มีความต้องการ และต้องทำให้ฟาร์มของเราปลอดภัย จากโรคต่าง ๆ ปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดง”

ADVERTISMENT

ศูนย์กักกันโรคงบไม่เยอะ

ศูนย์นี้เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปได้ เพราะผู้ประกอบการประเทศคู่ค้าเขาจะมาลงทุนเอง ทั้งสร้างศูนย์กักกันโรคและจะบริหารจัดการโดยภาคเอกชน ภาครัฐก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย หรือระเบียบอะไรต่าง ๆ ในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้เราได้รับการประสานติดต่อมาแล้ว

“ส่วนของกรมปศุสัตว์ก็มีงบประมาณประจำปีดูแล คือต้องอธิบายว่า เรื่องการกักกันโรคไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม เพียงแต่ต้องทำตามระเบียบปฏิบัติที่ต้องดูแล”

ต่อยอดแปรรูปสินค้าปศุสัตว์

ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัว ซึ่งผมเพิ่งกลับจาก จ.ชุมพร ไปดูโรงเชือดตามหลักฮาลาล พบว่ามีโรงชำแหละที่มีมาตรฐานเหนือกว่าในภูมิภาคนี้ด้วยซ้ำ และได้มาตรฐานโลกด้วย นี่คือศักยภาพที่เรามีอยู่ ถ้าเราสามารถจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปได้จะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น

เร่งผลิตวัคซีนลดนำเข้า 4 พันล้าน

อีกเรื่องที่ต้องดูแลเร่งรัดให้เร็วขึ้นคือ เราจะต้องมีวัคซีนที่มีปริมาณเพียงพอ ซึ่งขณะนี้เราต้องยอมรับว่าปัญหาเรายังไม่มีปริมาณวัคซีนเพียงพอและได้มาตรฐานสากล โรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์ที่ อ.ปากช่อง ค่อนข้างจะมีกำลังการผลิตจำกัด แต่ความต้องการวัคซีนจะเพิ่มขึ้น หากเราสามารถขยายตลาดส่งออกไปได้ ดังนั้น จำเป็นต้องมีวัคซีนเพียงพอแบบคู่ขนานกันไป

“ถ้าเรามีวัคซีนที่มีคุณภาพและเพียงพอ จะช่วยลดที่ต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศปีละ 4-5 พันล้านบาท ทั้งยังสามารถส่งออกไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย”

ศึกษาแผนลงทุนจบ 4 เดือน

“ผมได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ไปหาวิธีการว่าเราจะใช้ทางเลือกไหนที่จะดีที่สุด โจทย์ที่ให้คือ 1.ต้องประหยัดงบประมาณ 2.ต้องมีวัคซีนที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอ 3.เราสามารถจำหน่ายวัคซีนไปที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ แต่เราให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ PPP เพื่อดำเนินการบริหารจัดการเรื่องนี้”

สำหรับรูปแบบการลงทุนมี 2 แบบคือ ในขณะนี้ได้รับงบประมาณ ซึ่งใช้งบประมาณจากกองทุนวัคซีน ไม่ได้เป็นงบประมาณแผ่นดิน จะมาขยายโรงงานแต่ว่าในการขยายโรงงาน เมื่อสร้างไปแล้วแต่ยังไม่ได้ตามมาตรฐานสากล ดังนั้น เราจึงมองว่าควรจะมีแนวทาง เช่น การร่วมทุนกับเอกชน หรือแนวทางอื่น ๆ ทางใด ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ต้องไปหาข้อสรุปมาให้ได้ เราให้เวลา 4 เดือนนี้ต้องมีคำตอบให้เรา

ปราบหมูเถื่อนไม่ “มวยล้ม”

นอกจากการหาตลาดใหม่แล้ว ยังต้องแก้ปัญหาสินค้าปศุสัตว์เถื่อนที่ทะลักเข้ามากระทบกลไกตลาด

“ผมได้สั่งการไปแล้วว่า ทางกรมปศุสัตว์ต้องให้ความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในการให้เอกสาร วันนี้เราก็ถูกกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่เราเองไปมีส่วนอยู่ในขบวนการนี้ เรื่องนี้ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก ฉะนั้น เราไม่ปฏิเสธว่าทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องสินค้าเกษตรนำเข้าแบบผิดกฎหมาย เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมืองและราชการ

“ในส่วนของราชการ ในส่วนของผมที่กำกับดูแล ถ้าหากว่าคนของเรามีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบ ดีเอสไอก็ทำหน้าที่ของเค้าอยู่ ในส่วนคดีเรายุ่งไม่ได้ แต่ในส่วนเอกสารหรือการทำงานต้องให้ความร่วมมือกับดีเอสไอ เราต้องปัดกวาดบ้านเราให้สะอาด”

ตั้งสอบเจ้าหน้าที่เอี่ยวหมูเถื่อน

ตอนนี้เรามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายใน เพื่อหาข้อเท็จจริงกรณีที่เจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูเถื่อน ให้ทางอธิบดีรายงานมาว่าไปถึงไหน ทุกเดือน

“การเปิดเผยรายชื่อผู้เกี่ยวข้องหมูเถื่อนให้เป็นหน้าที่ของดีเอสไอมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ตอนนี้รู้ตัวแล้วว่าเป็นใคร ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ของเราก็มีส่วนเกี่ยวข้องเหมือนกัน แต่จะเกี่ยวข้องในระดับไหนทางดีเอสไอมีข้อมูลอยู่แล้ว”

หากมีการตรวจสอบ หากพบการกระทำความผิด มีบทลงโทษอยู่แล้ว ปล่อยไปไม่ได้ เพราะประชาชนก็เฝ้ามองอยู่ และนับว่าเป็นเรื่องปัญหาอุปสรรคที่ทำให้กลไกตลาดเสียหาย ถือว่าเป็นอาชญากรทางเศรษฐกิจ

“เรื่องนี้เกิดจากการสำแดงเท็จ ทำไมต้องไปสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าประมง เป็นปลา เราก็ต้องจัดการในบ้านเราให้ได้ ผมไม่มวยล้มแน่นอน”