ธรรมนัสลั่นเกษตรกรต้องพ้น ‘3 จ.’ ชูนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ 3 เท่าใน 4 ปี

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

ธรรมนัสสั่งลุยนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม ปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน กระตุ้นข้าราชการ พร้อมเปิดโอกาสทำกิน ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโต 3 เท่าใน 4 ปี (2570) ของรัฐบาล หลุดพ้น 3 จ. จน เจ๊ง เจ็บ รับมือวิกฤตรอบด้าน สภาพอากาศแปรปรวน-สังคมผู้สูงอายุ-FTA ขาดดุล

วันที่ 24 มกราคม 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานสัมนา Thailand 2024 : THE GREAT CHALLENGES เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ในหัวข้อ ลดรายจ่าย : มิติใหม่ ปราบผู้มีอิทธิพล แก้หนี้ แก้จน ปลดหนี้เกษตรกร ได้จริง? ซึ่งจัดโดย หนังสือพิมพ์มติชน ว่า

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือเป็นกระทรวงใหญ่ที่ต้องดูแลประชาชนกว่า 50 ล้านคน ทั้งผู้ประกอบอาชีพเกษตรกว่า 31 ล้านคน และผู้ขายแรงงานในภาคเกษตรอีก 20 ล้าน ซึ่งเป็นฐานรากเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจอันหนักอึ้งและท้าทายที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี เนื่องจากเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา เพราะจีดีพีของภาคเกษตรกรรมของไทยกลับเติบโตเพียง 0.3% เนื่องจากหลายปัจจัยความท้าทาย

ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า จากการพูดคุยในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรโลก หรือGlobal Forum for Food and Agriculture ครั้งที่ 16 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 17-22 มกราคม 2567 ความท้าทายในภาคเกษตรที่ทุกประเทศต้องเผชิญคือ ภาวะเศรษฐกิจขาดิ่งทำให้ประเทศที่มีภาคการเกษตรส่วนใหญ่จีดีพีตกต่ำ แม้แต่ประเทศเยอรมันก็พบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จนมีการประท้วงของเกษตรกรที่ประสบปัญหากับปัจจัยทางการผลิต รวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้น

เกษตรกรไทยปี’66 โตเพียง 0.3%

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันที่เมื่อปี 2566 ที่ผ่ามา ภาคการเกษตรเติบโตเพียง 0.3% ซึ่งเกิดคำถามว่า ประเทศไทยที่เดิมเคยเป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรเบอร์ต้น ๆ ของโลก อย่างข้าวที่เคยเป็นแชมป์ส่งออก แต่เพราะอะไร ทำไมในปี 2565-2566 เราถึงโดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแซงหน้าไปได้

หรือแม้แต่ภาคการประมงที่ส่งออกสินค้าประมง จนเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นเจ้าสมุทร แต่เกิดอะไรขึ้นทำไมภาคการประมงของเราถึงซบเซา นั่นเพราะแทนที่เราจะเจรจากับทางสหภาพยุโรปถึงกฎเกณฑ์เงื่อนไขเรื่องการทําประมงที่ผิดกฎหมาย (Illegal Unreported and Unregulated fishing หรือ IUU Fishing) แต่เรากลับเลือกที่จะสร้างเงื่อนไขรายละเอียด ออกกฎหมายและระเบียบที่ยิบย่อย จนทำให้ชาวประมงใน 22 จังหวัดทั้งพื้นบ้านและเชิงพาณิชย์ตายกันหมด

“ผมใช้เวลาทบทวนเรื่องนี้อยู่ 4 เดือน เรียกกลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มประมงชายฝั่ง และกลุ่มประมงพาณิชย์มาพูดคุย ภายหลังการไปตรวจราชการร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเขาก็เสนอมาว่า ต้องแก้กฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบกรมประมง รวม 19 ฉบับ รวมถึงขออำนาจตั้งคณะทำงานแก้ปัญหากฎหมายทั้ว 19 ฉบับ ซึ่งตอนนี้ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ก็พร้อมสภาแล้ว แต่เนื่องจากกระทรวงต่างประเทศต้องการตรวจสอบข้อระเบียบของ IUU ซึ่งการแก้ปัญหาตรงนี้จะทำให้การประมงกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง”

แต่ตอนนี้กลับเจอปัญหาเรื่องราคาแทน เพราะมีผู้ประกอบการสั่งสินค้าประเภทประมงเข้ามาเต็มไปหมด ทำให้เมื่อสามารถปลดล็อกกฎหมายให้พี่น้องชาวประมงได้แล้ว ก็ต้องต้องมาทำการบ้านเรื่องของการตลาด จึงปรึกษานายกฯ และได้คำแนะนำว่า ให้ใช้นโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร

ข้าราชาการต้องตื่นตัว

ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ทุกประเทศพูดถึงเทคโนโลยีและการพัฒนาเหมือนกันหมด รวมถึงเรื่องการทำเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เราก็ต้องกลับมาทำการบ้านเรื่องนี้เพิ่ม ซึ่งผมก็ได้ประกาศและมอบนโยบายให้ข้าราชการในกระทรวงว่า

“คุณต้องตื่นได้แล้ว คุณจะบริหารบ้านเมืองแบบเดิมไม่ได้ จะทำงานรูทีนไม่ได้ แล้วไม่สนใจพี่น้องประชาชน ในยุคนี้ต้องไม่มีแล้ว ต้องทำงานหนัก เช่นเดียวกับนายกฯที่ไม่เคยหยุดว่างเว้นจากการทำงาน แม้แต่เสาร์อาทิตย์ก็ลงพื้นที่เพื่อไปรับฟังปัญหาพี่น้องประชาชนด้วยหูและตาของท่าน ถ้าสิ่งไหนที่สั่งการได้เลย ต้องสั่งการและแก้ปัญหาเร่งด่วน แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องกลับมาคิดและประชุมเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งผมได้ประกาศใช้ระบบ คุณต้องทำ KPI (Key Performance Indicator) จากเดิมที่ทุก 1 ปี เปลี่ยนมาเป็ทุกไตรมาส หรือ 3 เดือน ตั้งแต่ระดับปลัด อธิบดี ไปจนถึงข้าราชการ ว่า ทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อพี่น้องเกษตรกรอย่างไร”

อีกปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่ไม่ใช่แค่แล้งจัดหรือน้ำท่วมเยอะเท่านั้น ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีที่คาดว่า จะเกิดเอลนีโญ แต่กลายเป็นว่า ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา น้ำท่วมทุกภูมิภาค ทำให้เราไม่สามารถพยากรณ์สภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหมือนกันหมดทั่วโลกและเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการผลิตของภาคเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ รวมถึงยังมีปัจจัยของสังคมผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบัน ประชากรไทยส่วนใหญ่มีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งเดิมที่เคยอยู่ในภาคการเกษตร พออายุเยอะขึ้นก็ทำต่อไม่ไหว ส่วนลูกหลายเองก็ไม่ทำต่อแล้ว

3 จ. จน เจ๊ง เจ็บ

ร้อยเอกธรรมนัสยังเปิดเผยอีกว่า ปีนี้เป็นปีมังกรทองซึ่งจะต้องเป็นปีที่ดีของคนไทย ที่จะเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย โดยการใช้ตลาดนำภาคการผลิต เพราะถ้าเศรษฐกิจของไทยเราไม่มีเกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นฐานรากอันเข้มแข็งของประเทศก็ไม่มีทางที่จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนได้อย่างแน่นอน

“การจัดสรรงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา ผมได้ฟังการบรรยายของฝ่ายค้านก็เห็นด้วยว่า ทำไมกระทรวงเกษตรซึ่งเป็นกระทรวงที่ดูแลพี่น้องกว่า 50 ล้านคน กลับเป็นกระทรวงเดียวที่ถูกตัดงบประมาณ ซึ่งจากงบประมาณที่ได้รับจากใช้สนับสนุนพี่น้องเกษตรกรได้เพียงรายละ 3,000 บาทเท่านั้น

ดังนั้นสิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดคือ ปัญหาที่เราต้องแก้คืออะไร จะเพิ่มรายได้ได้อย่างไร เวลาผมลงพื้นที่แล้วไปถามพี่น้องว่า ค่าไฟแพงหรือไม่ ค่าปุ๋ยแพงไหม ก็ได้คำตอบเดียวกลับมาว่าแพง แต่เมื่อถามถึงราคา ทุกคนก็ประสานเสียงกลับว่า ถูก พร้อมให้นิยามว่าตอนนี้เป็น 3 จ. คือ จน เจ็บ เจ๊ง และพี่น้องเกษตรกรก็รู้สึกว่า ตนเองเป็นพลเมืองที่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐ ซึ่งเราจะปล่อยให้เป็นแบบเดิมไม่ได้” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว

FTA ขาดดุล-ปัญหาของเถื่อนทะลัก

ร้อยเอกธรรมนัสเปิดเผยอีกว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการเสนอว่า ต้องนำเข้าสินค้าเกษตร ผมค้านทุกอย่างเพราะบ้านเราเป็นเมืองผลิตทำไมต้องสั่ง เกษตรกรจะอยู่อย่างไร ตอนนี้นากุ้งที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับกลายเป็นนาร้าง เพราะเราสั่งกุ้งจากต่างประเทศเข้ามา ทั้ง ๆ ที่เราส่งออกกุ้งเป็นอุตสาหกรรม จนทำให้ราคากุ้งในตลาดตกลง ยังไม่รวมสินค้าเถื่อนที่ผมต้องประกาศนโยบาย หมูเถื่อน เท้าไก่เถื่อนอีก

“ผมได้จัดชุดปราบปรามอย่างเอาจริงเอาจัง ถ้าทั้งผมและนายกฯไม่เอาจริงก็ไปไม่รอด รู้หรือไม่ว่า หมูเถื่อน 1 ตู้เท่ากับหมู 300 ตัว แล้วที่ผ่านมานำเข้าเกือบหมื่นตู้จนทำให้ราคาหมูในประเทศตกต่ำ แถมยังมีเนื้อเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านที่จูงวัวที่ยังมีชีวิตอยู่ลักลอบเข้ามาจากศรีลังกาเดินมาบ้านเรา ผ่านชายแดนแม่ฮ่องสอน ตาก” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว

หรือแม้แต่ยางพาราที่ไทยถือว่าส่งออกเยอะที่สุด จากเดิมที่เคยราคากิโลละ 120 บาทก็ราคาตกต่ำ น้ำยางดิบประมาณ 30 กว่าบาท ส่วนยางก้นถ้วยและขี้ยางเหลือ 18 บาท ผมจึงได้บังคับบัญชาการให้ทุกภาคส่วนในทุกจังหวัดร่วมมือกันปราบปรามอย่างจริงจัง จนตอนนี้ราคาน้ำยางดิบขึ้นมาที่ 62 บาทต่อกิโลกรัม และราคายางก้นถ้วยขึ้นมาที่ 30 กว่าบาท ทำให้เห็นว่านอกจากการเพิ่มรายได้ด้วยการขยายตลาดแล้ว การปราบปรามสินค้าเถื่อนก็ยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งด้วยเช่นกัน

FTA ขาดดุล ประเทศเจ๊ง

ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวต่อว่า เมื่อกติกาการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศทำให้เกิดกฎกติกาการนำเข้าส่งออกต่อประเทศทุกประเทศ ถ้าประเทศไหนเข้มแข็งจะได้เปรียบ โดยเฉพาะเรื่องการทำความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ในรัฐบาลที่ผ่านมากับประเทศใดก็ตามเราเสียเปรียบทุกเรื่อง ขาดดุลการค้ากับประเทศมหาอำนาจทุกประเทศเราไปเซ็นโดยไม่คิดว่าอนาคต เกษตรกรไทยได้เปรียบอย่างไร

“อย่างที่เราไปเซ็นการค้ากับออสเตรเลีย นำเข้าเนื้อทุกประเทศมาบ้านเรา ส่วนบ้านเราสามารถ FTA ส่งออกเป็ดปรุงสุกได้ ซึ่งก็มาตรฐานที่เข้มงวดจนตอนนี้ผู้ส่งออกหลายรายเจ๊ง ขณะที่เนื้อทุกอย่างจากออสเตรเลียก็ทะลักเข้ามาที่บ้านเราเต็มไปหมด จึงต้องไปหามาตรการเพื่อกวดขันให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีด่านสิงขรเป็นช่องทางที่ไทย-พม่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เราส่งออกเพียง 60 ล้านบาท ขณะที่สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านแค่เฉพาะภาคการประมงอย่างเดียวเข้ามามากกว่า 3 พันกว่าล้าน แล้วอย่างนี้ประเทศไทยจะไม่เจ๊งได้อย่างไร

ในวิกฤตมีโอกาส

นอกจากนี้ ร้อยเอกธรรมนัสยังเปิดเผยด้วยว่า แต่ว่าตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเจอกับปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพ ทำให้เขาต้องหาแหล่งนำเข้าสินค้าใหม่ที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ซึ่งเขาก็จะนึกถึงประเทศไทยก่อนเป็นลำดับแรก ๆ

มีหลายประเทศอยากจะสั่งสินค้าจากเราทั้งข้าว น้ำตาลและผลไม้ อย่างก่อนหน้านี้ก็ได้ออเดอร์น้ำมันปาล์ม 2 ล้านตันจากอินเดีย รวมถึงออiNเดอร์ข้าว 2 ล้านตันจากมาเลเซีย และอีกหลายประเทศที่จะตามมา เท่ากับว่า ตอนนี้เรากำลังเดินทางแก้ปัญหาด้วยการใช้ตลาดนำแล้วนวัตกรรมเสริมเพื่อไปถึงจุดหมายที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

รวมถึงประสานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่องนวัตกรรมมและงานวิจัยให้มาใช้กับเกษตรกรจริง พร้อมเตรียมจัดตั้งกองพิเศษสำหรับขึ้นทะเบียนเครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกรในทุกจังหวัด และอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ ตอนนี้ได้เปิดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินที่ได้ปล็ดล็อกที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 2 ล้านครอบครัว

“ผมเอาความจริงที่ได้สัมผัสมาแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ฝากความหวังรัฐบาล ภายใต้รัฐบาลการนำของนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญลำดับแรก ๆ กับภาคเกษตรกรรม โดยเราจะเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน เพื่อให้มีภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนหอการค้ามีส่วนร่วม เพื่อพี่น้องเกษตรกรทั้ง 50 ล้านชีวิตที่ถือว่าเป็นกระจกเงาที่สะท้อนทุกภาคส่วน เราจะทำให้ดีที่สุด” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว