
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ จังหวัดปัตตานี เปิดเวทีเจรจาธุรกิจนำสินค้าพื้นถิ่น ผลเจรจาปิดดีลสินค้าพื้นถิ่น 5 จังหวัด กว่า 110 รายการ มูลค่ารวมกว่า 15 ล้านบาท ปั้น ‘ปัตตานีโมเดล’ ขยายโอกาสทางการค้าไปอีก 2 จังหวัดยะลาและนราธิวาส
วันที่ 2 มีนาคม 2567 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมมือกับ จังหวัดปัตตานี จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างเทรดเดอร์ บายเออร์รายใหญ่ของประเทศไทย กับ ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ประกอบการสินค้าชุมชน จ.พัทลุง จ.สงขลา ผู้ประกอบการชุมชน กว่า 45 ราย จาก 5 จังหวัด เพื่อนำผลิตภัณฑ์ชุมชนจากแดนใต้จำหน่ายในศูนย์การค้าฯ และร้านค้าต่างๆ ของเทรดเดอร์และบายเออร์ที่เข้าร่วมเจรจาธุรกิจ
สำหรับเทรดเดอร์ บายเออร์ 5 ราย ที่เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจ ได้แก่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และ สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย บินตรงจากส่วนกลางเข้าร่วมเวทีเจรจาธุรกิจ
นอกจากนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าจำหน่ายภายในศูนย์การค้าฯ และร้านค้าต่างๆ ยังถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมส่งเสริมและผลักดันให้เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ แสดงถึงความมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว ตลอดจนสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ประกอบการชุมชนระยะยาว
ทั้งนี้ ผลการเจรจาธุรกิจประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ภายในวันเดียวสามารถปิดดีลการเจรจาได้ถึง 68 คู่ สินค้าชุมชนรวม 110 รายการ สร้างมูลค่าการค้ากว่า 15 ล้านบาท โดยมียอดขายภายในงานทันที 649,000 บาท ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากเทรดเดอร์/บายเออร์ 5 อันดับแรก ได้แก่
- ผ้าบาติกพิมพ์มือผสมลายเขียนมือ
- กรือโปะ (ข้าวเกรียบปลา)
- ทุเรียนเคี้ยวหนึบ
- เครื่องจักรสานจากกระจูด
- สมุนไพรแปรรูปเวชสำอาง
ทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าชุมชนที่เป็นไฮไลท์ของแต่ละพื้นที่ และคาดว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย เป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนได้ขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยอย่างต่อเนื่อง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ จังหวัดปัตตานี เตรียมนำความสำเร็จที่ได้รับไปจัดทำเป็น ‘ปัตตานีโมเดล’ ขยายโอกาสทางการค้าไปอีก 2 จังหวัดชายแดนใต้ คือ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีศักยภาพสูง มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ครบครัน เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจ ปัตตานีจึงเป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจและเหมาะกับการที่นักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจะขยายการลงทุนเข้ามาในพื้นที่
ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ประเทศไทยมี MSME จำนวนทั้งสิ้น 3,187,378 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการภาคใต้ชายแดน จำนวน 68,205 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของจำนวน MSME ทั้งหมดของประเทศ และมีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นร้อยละ 2 ของ GDP MSME หรือ 0.8% ของ GDP ทั้งประเทศ