
ปี 2567 นับเป็นปีสำคัญของวงการพลังงานไทย หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเปลี่ยนหัวเรือใหญ่ มาสานต่อภารกิจสำคัญ เพื่อรักษาสามเหลี่ยมพลังงาน ทั้งด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ราคาและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยประเทศขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
พลังงานยุคผลัดใบ
สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 หลังจาก ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ แทน นายกุลิศ สมบัติศิริ พร้อมนโยบายสำคัญในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอในราคาที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมพลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน
นอกจากการเปลี่ยนหัวเรือใหญ่อย่างปลัดกระทรวงพลังงานแล้ว ในแต่ละกรมของกระทรวงพลังงานก็ได้มีการปรับทัพผู้บริหาร “อธิบดี” ยกชุด ประเดิมด้วย นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คนใหม่ แทน นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ที่โยกไปอยู่กรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เร่งเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ อ่าวไทย จนขยับขึ้นมาเป็น 800 ล้าน ลบ.ฟ. ตามเป้าหมาย พร้อมเตรียมเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงบนบก (ครั้งที่ 25) จำนวน 9 แปลง รวมถึงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ให้ได้ภายใน 10 ปี
ในส่วนของกรมธุรกิจพลังงาน บทบาทสำคัญคือ การปรับลดชนิดและหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มดีเซล ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 น้ำมันดีเซลจะเหลือแค่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานชนิดเดียว (บี 7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 (น้ำมันทางเลือก) พร้อมผลักดันแผนน้ำมันแห่งชาติ (Oil Plan) ควบคู่กับแผนส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ (New Business) เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการตั้งรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
ด้านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปลี่ยนผ่านจากมือ ดร.ประเสริฐ สู่ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งการใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจร โดยเฉพาะอาคารอนุรักษ์พลังงาน ขณะที่ “นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู” ขึ้นแท่นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รับไม้ต่อจาก “วัฒนพงษ์” ในการยกร่างแผนพลังงานชาติ (NEP 2024) พร้อมแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ที่เตรียมเปิดประชาพิจารณ์เดือนเมษายนนี้
กกพ.สรรหาเลขาฯคนใหม่
มาทางฝั่งของคณะกรรมการกำกับ หรือ Regulator ทางด้าน “นายคมกฤช ตันตระวานิชย์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เกษียณ ซึ่งกระบวนการสรรหา เลขาธิการ กกพ. สิ้นสุดลง ปรากฏชื่อ “นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์” รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นผู้ชนะผู้สมัครอีก 3 ราย มีผล 31 พ.ค. 2567
นายคมกฤชกล่าวว่า ในฐานะที่ กกพ.เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน พร้อมปรับใช้กฎหมายให้เข้ากับวิวัฒนาการพลังงานที่เปลี่ยนไป เนื่องจากบางครั้งเทคโนโลยีพลังงานบางอย่างก็นอกเหนือจากขอบเขตอำนาจที่กฎหมายกำหนด ทำให้บางครั้งก็อาจเกิดการตั้งคำถาม
“ควรเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมาว่าสามารถปรับใช้ได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นการกำกับดูแลก็ต้องขึ้นอยู่กับอดีต การทำอย่างหนึ่งสำเร็จในอดีตไม่ได้หมายความว่าปัจจุบันจะสำเร็จ”
อีกทั้งยังต้องจับตามองว่า ใครจะมานั่งตำแหน่งประธานกำกับกิจการพลังงาน แทน นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ที่กำลังจะหมดวาระลงในเดือนตุลาคม 2567
ส่งต่อ ปตท.สู่มือ ซีอีโอใหม่
ฝั่งรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน แน่นอนว่า พฤษภาคม 2567 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่ 10 จะส่งมอบตำแหน่งให้ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ขึ้นเป็นซีอีโอคนที่ 11 สานต่อวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond เพื่อขับเคลื่อนสู่ธุรกิจใหม่ (New S-curve)
และมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2593 ด้วยการผลักดันธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ขับเคลื่อนแผนการลงทุน 89,203 ล้านบาท ในปี 2567-2571
“ปตท.มีการเปลี่ยนผู้นำมาตลอด คนใหม่ถือว่าเป็นคนที่อยู่ในกลุ่ม ปตท.อยู่แล้ว ถือว่าสบายใจได้ ซึ่งคนใหม่น่าจะรู้ PTT Way อยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จ และรับไม้ต่อและทำให้มันเจริญก้าวหน้าไปด้วยอยู่แล้ว เหมือนกับที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอด” นายอรรถพลกล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ GC ว่างลง ทางคณะกรรมการของ GC จึงได้แต่งตั้ง นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ รับช่วงต่อซีอีโอ GC แทน ขับเคลื่อนธุรกิจปิโตรเคมีที่เป็นกำลังหลักของ ปตท. และยังเหลือตำแหน่ง “นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “ปตท.สผ.” อีกหนึ่งที่กำลังจะหมดวาระในปลายปี 2567 ต้องมาลุ้นว่าใครจะมารับไม้ต่อ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่กำลังจะกลายเป็นธุรกิจร้อนในช่วงการขอสิทธิสำรวจ ครั้งที่ 25 ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ปลดล็อกผู้ว่าการ กฟผ.
ขณะที่การสรรหา ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยาวนานข้ามปี ได้สิ้นสุดลงด้วยชื่อ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ที่ก้าวขึ้นมารับภารกิจในช่วงเวลาโค้งสุดท้าย 1 ปี 4 เดือนก่อนเกษียณ ไม่ใช่เพียงสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าและความสามารถในการแข่งขัน แต่ต้องดูแลทั้งชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นกลไกของรัฐและการนำส่งรายได้เข้ารัฐ
อีกทั้งยังต้องบริหารงบประมาณการลงทุนอีกกว่า 30,000-40,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบสายส่ง โรงไฟฟ้าให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป ควบคู่กับการบริหารสภาพคล่อง ภายใต้ภาระค่าไฟที่ต้องแบกไว้กว่า 99,000 ล้านบาท
ลุ้น สรรหา ผอ.สกนช.
และสุดท้าย คือ ตำแหน่งที่แชลเลนจ์ที่สุด ท่ามกลางวิกฤตราคาพลังงานผันผวนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ นับเป็นหน้าที่ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่จะรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน ในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะลุ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน พุ่งไปเกือบจะ 2 ลิตร 100 บาท และราคาดีเซลทะลุ 30 บาท
ใครจะก้าวขึ้นกุมบังเหียน สกนช. แทน “นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์” ผู้อำนวยการ สกนช. ที่จะหมดวาระในเดือนกันยายน 2567 และรับช่วงต่อในการบริหารสภาพคล่อง ฟื้นสถานะฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ติดลบ 101,606 ล้านบาท (7 เม.ย. 2567) ทั้งในบัญชี LPG ติดลบ 47,138 ล้านบาท และบัญชีน้ำมัน ติดลบ 55,468 ล้านบาท