เร่ง “แผนพลังงานชาติ” ชู 3 สมดุล “ราคา-มั่นคง-ยั่งยืน”

Weerapat.k
สัมภาษณ์

แผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan : NEP) เป็นแผนสำคัญที่จะกำหนดทิศทางพลังงานของประเทศไทยในอนาคตที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และเดินหน้าไปสู่จุดหมายสูงสุดคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ตามที่ประเทศไทยเคยได้ประกาศไว้ใน COP26

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานคนใหม่ที่จะมาสานต่อภารกิจสำคัญนี้

ความท้าทายด้านพลังงาน

อย่างแรกคือ เรื่องราคาพลังงานที่ตอนนี้ยังราคาสูง ดังนั้นเราจะต้องบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เนื่องจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์หรือการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เร่งด่วน จะต้องดูแล

นอกเหนือจากการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว การกำหนดและวางทิศทางพลังงานในอนาคตของประเทศไทยก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ถ้าหากเราวางทิศทางไม่ถูกต้องหรือไม่ดี จะส่งผลต่ออนาคตทั้งประเทศของเราทั้งเศรษฐกิจและสังคม

และอีกความท้าทายที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การวางแผนพลังงานในระยะยาวถึง 10-20 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้เราจึงต้องมองแผนเป็นระยะสั้นที่มีความยืดหยุ่นประมาณ 5-10 ปี โดยทาง สนพ.ก็จะมีการวางนโยบายใหม่ทุก 3 ปี เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ

ชง ครม.เคาะ NEP ก.ย. 67

แผนพลังงานแห่งชาติเป็นแผนใหญ่ที่จะเป็นกรอบภาพรวมการทำงาน และเป้าหมายการดำเนินการจัดการด้านพลังงานตั้งแต่ปี 2566-2580 ซึ่งประกอบด้วย 5 แผนสำคัญได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

ซึ่งจะพยายามเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนเมษายน จากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแผน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในกันยายน 2567

โดยแผน PDP ที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของ สนพ.นั้น ได้ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 50% ของกำลังการผลิตไฟทั้งหมด เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน จากเดิมที่ 58,852 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่คาดว่าในช่วงปลายแผนค่าพีกอาจจะแตะ 50,000 เมกะวัตต์ และพฤติกรรมการใช้ไฟของคนที่เปลี่ยนแปลงไป

ซึ่งสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนนั้น ประกอบด้วยพลังงานโซลาร์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานไบโอแมส ซึ่งนับรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage) อีกด้วย

ส่วนพลังงานทางเลือกใหม่อย่างพลังงานไฮโดรเจนนั้น ปัจจุบันตั้งเป้าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไว้ประมาณ 5% เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องต้นทุนที่มีราคาสูง ประกอบกับเทคโนโลยีก็ยังไม่คืบหน้า ทำให้ในช่วงแรกของแผนพลังงานชาติ จะเน้นโครงการนำร่องเพื่อทดสอบศักยภาพและความคุ้มค่าของพลังงานไฮโดรเจน

โดยจะมีกลุ่มศักยภาพนำร่อง ได้แก่ ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเราก็หวังว่า ในช่วงปลายแผนพลังงานชาติ จะสามารถเริ่มใช้พลังงานไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ได้

“พลังงานนิวเคลียร์ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่อยู่ในแผนตอนนี้เป็นรูปแบบ Small Modular Reactor (SMR) ที่มีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป แต่มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้พลังงานนิวเคลียร์จะตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงพลังงาน ราคาและสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาที่สำคัญตอนนี้คือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนทั่วไปยอมรับ โดยจะมีหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย”

ปัจจัยวางแผน PDP

ต้องบอกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการใช้ไฟของคนเปลี่ยนไปจากเดิม ที่ตลอดมาการใช้พีกจะอยู่ในช่วงกลางวัน แต่เมื่อปีที่ผ่านมา การใช้พีกกลับปรากฏเป็นตอนกลางคืนครั้งแรก และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเป็นตอนกลางคืน จากค่าพีกตั้งแต่มกราคมจนถึงมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ไฟฟ้าพีกประมาณ 32,000 เมกะวัตต์ ในช่วง 1-2 ทุ่มหลายครั้ง

ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) อาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 58,852 เมกะวัตต์ มีบางส่วนเป็นพลังงานโซลาร์ ซึ่งอาจจะไม่ได้รองรับความมั่นคงการใช้พลังงานในตอนกลางคืน

“การคิดแผน PDP ต้องคำนึงถึง 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ความมั่นคงด้านพลังงาน ราคาที่เข้าถึงได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เวลาวางแผนเราต้องจัดสรรโรงไฟฟ้าให้เหมาะสม ถ้าใส่พลังงานโซลาร์เยอะก็อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางพลังงาน

หรือถ้าใช้พลังงานถ่านหินที่ถูกและมั่นคงก็อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมอีก ทำให้เวลาวางแผนจะต้องคำนึงถึงสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องมีโรงไฟฟ้าที่เป็น Base Load มาเสริมด้านความมั่นคง”

“ส่วนเรื่องไฟฟ้าสำรองที่เป็นประเด็นว่าเราสำรองเยอะเกินนั้น ปัจจุบันไม่ได้มีการซื้อขายไฟฟ้าเพิ่ม แต่ปริมาณการบริโภคไฟสูงขึ้น ทำให้ในช่วงพีกที่ผ่านมาของปี 2566 พบว่า ปริมาณไฟฟ้าสำรองเหลือประมาณ 30% และในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังต้องจับตาพฤติกรรมการใช้ไฟในภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้า ทว่าก็ยังไม่ได้มากจนกระทบต่อปริมาณไฟสำรอง”

แนวโน้มการใช้พลังงานปี’67

ส่วนปีนี้คาดว่าความต้องการใช้พลังงานของประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท

ทั้งนี้คาดการณ์ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นปี 2567 การใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 3.1% โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องบินที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 24.5% จากประมาณ 28 ล้านคนในปี 2566

ส่วนการใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่ม 2.5% จากแหล่งเอราวัณที่จะกลับมาผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตในเดือนเมษายน 2567 ขณะที่การใช้ถ่านหินและลิกไนต์จะเพิ่มขึ้นอีก 2.4% จากการนำเข้าถ่านหินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนลิกไนต์ในประเทศที่ลดน้อยลง เนื่องจากการหมดอายุประทานบัตรเหมืองในประเทศ

ส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูปจะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 หรือประมาณ 142.5 ล้านลิตร และประมาณการความต้องการไฟฟ้าปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.1% หรือประมาณ 210,170 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง เป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 2.2-3.2% อีกทั้งยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว