
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แสดงความยินดีนายกฯ หญิงอายุน้อยที่สุดของประเทศไทย ฝาก 6 โจทย์เร่งด่วน กู้วิกฤต SMEs แก้สภาพคล่องเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน สู้สินค้าจีน
วันที่ 17 สิงหาคม 2567 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยขอแสดงความยินดีกับคุณแพทองธาร ชินวัตร (ว่าที่) นายกรัฐมนตรี ท่านที่ 31 สุภาพสตรีที่อายุน้อยที่สุดของประเทศไทย และเป็นกำลังใจให้ได้คณะรัฐมนตรีที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยโดยเร็ววัน เพื่อสานงานต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยที่รอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สร้างความรู้รักสามัคคีปรองดองเพื่อร่วมปกป้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องตามที่ต้องการ แต่เราสามารถช่วยกันทำสิ่งที่มีอยู่สิ่งใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ เพื่อเป้าหมายความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของประเทศไทยร่วมกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม อะไรดีต้องช่วยกันสนับสนุน อะไรบกพร่องช่วยกันเตือนอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไข เปิดใจรับ…จริงใจแก้
เรามีกลไกการตรวจสอบที่แข็งแรงทั้งในสภา องค์กรอิสระ ศาลยุติธรรม รวมทั้งภาคประชาชน เรามีปัญหาอีกมากมายที่รุมเร้าเศรษฐกิจปากท้องประชาชนและเอสเอ็มอีรอการแก้ไขที่ต้องรวดเร็วตรงประเด็น เอสเอ็มอีเราช่วยเป็นกำลังใจให้ (ว่าที่) นายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศ และ (ว่าที่) รัฐบาล “หมดเวลาความขัดแย้ง หันหน้าแสวงหาความร่วมมือกัน ก่อนที่ประเทศไทยจะเติบโตไม่ทันเพื่อน” เพราะเศรษฐกิจ 4 เดือนสุดท้ายของปีกับ
ปัญหาหลักที่เอสเอ็มอีมีความคาดหวังให้เร่งแก้ไข 6 เรื่อง
1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพิ่มรายได้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
2.มาตรการลดต้นทุน ภาระค่าครองชีพของประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคแรงงาน อาทิ ปรับโครงสร้างพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้าอย่างจริงจังเร่งด่วน
3.มาตรการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำและการแก้ไขหนี้ทั้งระบบอย่างเป็นระบบ เพิ่มคุณภาพหนี้ครัวเรือน ลดหนี้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยรายย่อยที่เป็นธรรม
4.มาตรการยกระดับขีดความสามารถกำลังคนในประเทศ ผู้ประกอบการ แรงงานและเกษตรกรให้มีผลิตภาพ ศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะดิจิทัลเทคโนโลยี ความสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเพิ่มขึ้นสามารถแข่งขันได้
5.มาตรการแก้ไขปัญหากฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคกับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ต้องจัดลำดับความสำคัญและหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจนพร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน
6.มาตรการปกป้องเศรษฐกิจไทยจากทุนข้ามชาติที่ต้องทบทวนยุทธศาสตร์สร้างสมดุลเศรษฐกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลงไม่เป็น “อาณานิคมทางเศรษฐกิจต่างชาติ จนผู้ประกอบการถูกกลืนกินพึ่งพาตนเองไม่ได้”
ทั้งนี้ ปัญหาการแข่งขันทางการค้าและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องไม่นิ่งนอนใจ อาทิ อาชญากรรมเศรษฐกิจนอกระบบ ธุรกิจผิดกฎหมายที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย และมีประเทศไทยเป็นเป้าหมาย ทัวร์ศูนย์เหรียญที่ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย ค้าปลีกสัญชาติจีนเติบโตกระจายวงกว้าง จำหน่ายสินค้าราคาถูกละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทะลักมาจากจีนและกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีดั้งเดิมที่ต้านทานและปรับตัวไม่ไหว
การเข้ามาของธุรกิจดังกล่าวต้องถูกต้องตามกฎหมาย ดำเนินธุรกิจอยู่ในระบบภาษีที่ถูกต้อง มีการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคคนไทยถูกต้องครบถ้วน อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างทุนจีน กว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยเพื่อปล่อยเช่าและขายให้กับคนจีน
รวมทั้งใช้นอมินีไทยเข้ามาดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งภายในต้นทุนต่ำนำเข้ามาจากจีนแข่งขันกับผู้ประกอบการไทย ล้งจีน เกษตรสัญญาจ้างเหมาสวน ภาครัฐทุกวันนี้เปิดเสรีล้ง แต่มีมาตรการรองรับหรือไม่ และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการผูกขาดครอบงำการเกษตร การค้าผลไม้ไทย
Logistics จีนรุกผู้ประกอบการไทย แพลตฟอร์ม TEMU “เศรษฐกิจลัดวงจร” ที่ลดห่วงโซ่การค้าและการตลาด โดยส่งตรงจากผู้ผลิตถึงผู้ซื้อ เราขาดยุทธศาสตร์ในการรับรุกและพัฒนาอย่างต่อเนื่องกว่า 14 ปี ที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 96,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปี 2566 -1.3 ล้านล้านบาท ที่ไร้วี่แววมาตรการรองรับและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง