วิธีปลูก “มังคุด” ช่วยประหยัดค่าปุ๋ยทำอย่างไร

มังคุด

มังคุด เป็น 1 ใน 10 ผลไม้ที่คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) สั่งให้เพิ่มศักยภาพเพื่อผลักดันการส่งออก โดยตลาดหลักที่ไทยส่งออกมังคุดอันดับ 1 คือจีน มีสัดส่วน 94% ของการส่งออกทั้งหมด

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2567 คาดผลผลิตมังคุดจะมีประมาณ 281,000 ตัน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้า

นายอนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร (กวก.) กล่าวว่า มังคุดส่วนใหญ่ปลูกในภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกรวม 209,452 ไร่ ส่วนภาคตะวันออกและภาคกลาง มีพื้นที่ปลูกรวม 198,303 ไร่ ดินที่เหมาะสมมีเนื้อดินร่วนปนทราย ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความสูงจากระดับทะเลปานกลางไม่เกิน 650 เมตร ความลาดเอียงของพื้นที่ในระดับ 1-3% แต่ไม่ควรเกิน 15% หน้าดินมีความลึกมากกว่า 50 เซนติเมตร

ส่วนระดับน้ำใต้ดินลึกมากกว่า 1.5 เมตร ดินมีความสามารถในการระบายน้ำและอากาศดี ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดินประมาณ 5.5-6.5 ค่าการนำไฟฟ้าของดิน 0-2 เดซิซีเมนต์ต่อเมตร มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง 3% ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 15-45 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ 50-100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

วิธีการปลูกมังคุดจะแบ่งใส่ปุ๋ย 4 ครั้งต่อปีตามระยะการเจริญเติบโตของพืช คือ ระยะบำรุงต้น (ช่วงตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยว), ระยะสร้างตาดอก (ก่อนออกดอก 1-2 เดือน), ระยะบำรุงผล (หลังดอกบาน 1 เดือน) และ ระยะปรับปรุงคุณภาพ (ก่อนเก็บเกี่ยว 2 เดือน)

Advertisment

ซึ่งกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร มีภารกิจในการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับมังคุดในสวนของเกษตรกร โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน ค่าปุ๋ยได้ประมาณ 20% จากต้นทุนการเพาะปลูกในส่วนของปุ๋ยจะมีประมาณ 30% ของต้นทุนรวม

โดยสิ่งสำคัญที่สุดเกษตรกรต้องเก็บตัวอย่างดินเพื่อส่งให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ก่อนการวิเคราะห์การใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง

Advertisment

ประโชน์จากการวิเคราะห์ดินก่อนการใช้ปุ๋ย เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เกษตรกรไม่ใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็น หากดินมีธาตุอาหารเพียงพอไม่ต้องใส่ปุ๋ย แต่หากธาตุอาหารไม่เพียงพอจึงใส่เพิ่ม เพื่อให้ปริมาณปุ๋ยเหมาะสมกับความต้องการของพืช ส่งผลให้ต้นทุนการซื้อปุ๋ยลดลง 20% จากต้นทุนปุ๋ย และส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 10%

นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า เมื่อต้องใส่ปุ๋ยให้เหมาะกับดิน จำเป็นต้องวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน โดยมีวิธีการเก็บตัวอย่างดิน ในสวนมังคุดเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตัวเองตามขั้นตอนดังนี้

1. สุ่มเก็บตัวอย่างดินจำนวน 10-20 ต้นต่อแปลง (พื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่)

2. เก็บตัวอย่างดินจาก 4 ทิศรอบต้น ห่างจากชายพุ่มเข้าไปด้านในประมาณ 50 เซนติเมตร

3. เก็บตัวอย่างดินที่ 2 ระดับความลึก คือดินบนที่ความลึก 0-15 เซนติเมตร และดินล่าง ที่ความลึก 15-30 เซนติเมตร

4. รวมตัวอย่างดินจาก 4 จุด ให้เป็นตัวอย่างดินบน 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างดินล่าง 1 ตัวอย่าง 5. นำตัวอย่างดินบนของแต่ละต้นมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัม พร้อมบันทึกรายละเอียดตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง ระดับความลึกของดิน เป็นต้น

6. นำตัวอย่างดินล่างของแต่ละต้นมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัม พร้อมบันทึกรายละเอียดตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง ระดับความลึกของดิน เป็นต้น 7. นำตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ตามหน่วยงานที่รับวิเคราะห์ตัวอย่างดิน

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีการเก็บตัวอย่างดินหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมาวิเคราะห์ในทุก ๆ ปี เพื่อทราบระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และหากเกษตรกรต้องการปรึกษาขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดิน หรือการปรับปรุงดิน และการใช้ปุ๋ย สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เลขที่ 50 ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ โทร.0-2579-7514 หรือ 0-2579-4116