บีโอไอชี้อุตฯ PCB โตก้าวกระโดด จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง แห่ลงทุนไทย พร้อม Upskill-Reskill บุคลากรรับมือ หนุนไทยฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำระดับโลก
วันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา การลงทุนในอุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วงเดือน ม.ค. 2566-มิ.ย. 2567 มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB สูงถึงกว่า 140,000 ล้านบาท เทียบกับช่วงปี 2564-2565 ที่มีมูลค่าคำขอเฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
“การเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็วของผู้ผลิต PCB ชั้นนำจำนวนมากในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยต้องรีบเตรียมความพร้อม เมื่อโรงงานเหล่านี้สร้างเสร็จและจะเริ่มผลิตในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยบีโอไอจะให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมปัจจัยการผลิต 2 เรื่องที่สำคัญคือ บุคลากรและซัพพลายเชนในเรื่องบุคลากร”
นอกจากนี้ บีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB ให้ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต PCB, PCBA, วัตถุดิบและชิ้นส่วน และการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ PCB ทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และภาคเอกชน ช่วยจัดหาบุคลากรที่เหมาะสมให้กับผู้ผลิต PCB ผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และโปรแกรมการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะให้ดีกว่าเดิม (Upskill) และการสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ (Reskill) ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบีโอไอได้ประกาศความเป็นผู้นำของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกในการจัดงาน Thailand Electronics Circuit Asia หรือ THECA 2024 ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าในการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ถือเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกครั้งที่ 17 หรือ Electronic Circuits World Convention ในปี 2027 แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นผู้นำระดับแนวหน้าของอาเซียนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างชัดเจน