คอลัมน์ : สัมภาษณ์
น้อยคนที่จะรู้ว่ารถถังหุ้มเกราะในสนามรบ 46 ประเทศ มาจากฝีมือคนไทย การได้รับความยอมรับจากกองทัพ ไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่ล้วนเป็นความสามารถที่คนในครอบครัว ได้พยายามสร้างและฝ่าฟันกันจนมาถึงปัจจุบัน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสเยี่ยมชมและสัมภาษณ์ “นางนพรัตน์ กุลหิรัญ” หรือที่รู้จักกันในนาม “มาดามรถถัง” ผู้ที่เป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจพันล้าน “บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด” ที่มีรายได้เติบโตมาตลอดหลายสิบปีอานิสงส์จากสงคราม
แต่นับเป็นเรื่องที่น่าน้อยใจเมื่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ของประเทศ กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐเหมือนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งในเรื่องของภาษี วัตถุดิบ หรือแม้แต่การกีดกันให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย เพราะถูกตีความว่าเป็นธุรกิจด้านอาวุธ
รถพยาบาลกันกระสุนแห่งแรก
คำถามที่ทุกคนสงสัยและตั้งคำถามกันทุกครั้งที่เจอหน้า คือ ทำไม “กองทัพ” ถึงเชื่อใจและยอมที่จะให้เราเป็นผู้ผลิตรถถังหุ้มเกราะเพื่อใช้ในสนามรบ ทั้ง ๆ ที่เป็นบริษัทเล็กและไทยเองก็เป็นประเทศเล็ก ๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่าการที่เราเป็นบริษัทเล็ก มันกลับกลายเป็นจุดเด่นและข้อได้เปรียบทางการค้า เรามีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน “เราไม่วุ่นวาย” การออกไปประมูลงานทั้งหมด ลูกค้าคือรัฐบาลของแต่ละประเทศ
เราบอกให้ลูกค้ารู้ว่าเราเก่งเพราะมีวัตถุดิบ เรามีช่างฝีมือ เรามีวิศวกร เราเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของโลก เรามีการวิจัยเพราะเราไม่สามารถใช้วัสดุในแบบเดียวกันสำหรับทุกประเทศได้ เพราะแต่ละประเทศมีลักษณะภูมิประเทศและอากาศที่แตกต่างกัน
เราสามารถผลิตรถในแบบที่ลูกค้าต้องการได้ทั้งหมด ไม่มีล็อกสเป็ก ไม่มีแพตเทิร์น อยากได้แบบไหนเราทำให้ได้ และที่สำคัญ เราสามารถส่งมอบของได้ตรงเวลา เช่น รถถังรุ่น M113 ในวันที่เราเข้าไปประมูลกับทาง องค์การสหประชาชาติ (UN) เขาต้องการรถรุ่นนี้ 15 คัน คู่แข่งเราเสนอไปที่ 60 วัน แต่เราสามารถทำได้ 45 วัน ทำให้เราได้งานนี้มาและเราก็ทำได้จริง จากนั้นมันเป็นความเชื่อใจเรากับ UN มาตลอด และล่าสุดเราผลิตรถพยาบาลหุ้มเกราะที่สามารถขนย้ายคนป่วยได้ 4 เตียง นับเป็นเรื่องที่เราดีใจที่ UN ยังคงไว้ใจที่จะให้เราสร้างรถถังให้ และมีเราที่เดียวที่เป็นผู้สร้างรถนี้
รายได้ 1,000 ล้านบาท
หากย้อนไปดูที่จุดเริ่มต้นของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2511 ที่เป็นโรงงานผลิตและซ่อมลูกหมากรถบรรทุกสิบล้อ ซึ่งในสมัยนั้นชื่อเสียงโด่งดังในวงการรถบรรทุกเพราะเป็นเพียงรายเดียวที่รับประกันทำก่อนจ่ายทีหลัง ในปีต่อมาได้เริ่มค้าขายกับโรงงานซ่อมสร้างรถยนต์ทหารกองทัพบก จากนั้นจึงได้ขยายกิจการมาสู่การผลิตชิ้นงานยางติดเหล็ก ข้อต่อสายพาน ล้อกดสายพาน ได้เริ่มออกแบบข้อต่อสายพานรถถังรุ่น C-100 จนในที่สุดปี 2539 ได้ผลิตยานยนต์สายพานหุ้มเกราะ และเริ่มศึกษาเกราะป้องกันกระสุนกับประเทศอิสราเอล ควบคู่กับการตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ขึ้นมา
จนในปัจจุบันเรามีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท มาจากธุรกิจหลักคือ งานซ่อม ปรับปรุง สัดส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นอย่างวิจัยและผลิตยังน้อย แต่เราจะยังคงพัฒนาและสร้างรถถังแบบนี้ต่อไปให้เติบโต เพราะยุทโธปกรณ์มันเปลี่ยนไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้ทุกวันนี้เราจะได้อานิสงส์จากในหลายประเทศที่รบกัน แต่เราไม่ได้สนับสนุนสงคราม เพราะสิ่งที่เราสร้าง เราสร้างเพื่อให้พวกเขาป้องกันตัวเอง มันคือการสร้างความปลอดภัยในสนามรบ
สิทธิประโยชน์ไม่ตรงปก
เราไม่ได้เก่งคนเดียว เราต้องสร้างลูกหลานให้เก่งและขึ้นมาช่วยกัน วันนี้เรามี “นายกาน กุลหิรัญ” ลูกชายคนโตขึ้นมาสานต่อในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และเป็นอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ เราค้าขายกับกองทัพมาตั้งแต่ปี 2511 จนวันนี้ 50 กว่าปี เราต้องต่อสู้ด้วยตัวเองมาตลอด กลับมาดูที่นโยบายของรัฐบาล และตามที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เคยประกาศเรื่องของสิทธิประโยชน์
เราเป็นบริษัทคนไทยแท้ ใช้วัตถุดิบในประเทศ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ สายพาน ทุกอย่างเราใช้ของในประเทศ แม้จะมีพวกเหล็กป้องกันกระสุนที่เราต้องสั่งนำเข้าเพราะประเทศไทยไม่มี เรากลับโดนภาษีนำเข้าเหล็กที่ 5% โดน VAT โดนภาษีพิกัดอัตราป้องเหล็กรีดร้อนอีกกว่า 40%
รวมแล้วเราต้องเสียภาษีเหล็กอย่างเดียวถึง 60% ยังไม่รวมเครื่องยนต์พิเศษกับเกียร์ที่เราสั่งมาจากอเมริกา ซึ่งยุทโธปกรณ์เหล่านี้ต้องมีใบอนุญาตการส่งออก (Export License) และฝั่งไทยก็ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า (Import License) และมีสัญญากับกองทัพ กระทรวงกลาโหมอนุมัติเท่านั้นจึงจะนำเข้ามาได้ ในขณะที่ศุลกากรตีความว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use) เสียภาษีเครื่องยนต์ 30% เสียภาษีเกียร์ รวมแล้วทำในประเทศเสียภาษีทุกตัว แต่บางบริษัทซึ่งเป็นพวกบริษัทนายหน้านำเข้ารถถังสำเร็จรูปทั้งคัน ได้สิทธิประโยชน์นำเข้า 0% แค่นี้ต้นทุนเราก็แข่งไม่ได้แล้ว แบบนี้มันไม่ใช่การสนับสนุนที่แท้จริง
เราเคยยื่นขอบีโอไอหลายครั้ง แต่ไม่ได้ มาวันนี้จะให้สิทธิประโยชน์ โดยบีโอไอดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์การตั้งโรงงานซ่อมรถได้สิทธิทางภาษีถึง 8 ปี บวกยกเว้นภาษีอื่น ๆ อีก ซึ่งในความเป็นจริง กิจกรรมซ่อมไม่ควรที่จะสนับสนุนเกินกว่ากิจการสร้าง บีโอไอเองควรที่จะสนับสนุนกิจการที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นนวัตกรรม เป็นการวิจัยที่สำคัญและเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ดึงมาแข่งกับคนไทย ในขณะที่เราเองกลับถูกเพิกเฉยทั้งที่เราก็เป็นบริษัทคนไทยแท้ ๆ
MIT ต้องได้สิทธิภาษีเพิ่ม
แล้วอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมันสร้างประโยชน์ยังไงกับระบบเศรษฐกิจและมีประโยชน์ยังไงกับคนไทย ให้เรามองเรื่องเทคโนโลยีใหม่เหมือนกับอยู่บนภูเขาเวลาฝนตกน้ำที่มันไหลลงมา ถ้าเราทำในประเทศน้ำที่ไหลลงมาตลอดเส้นทางชาวบ้านระหว่างทางก็จะได้ประโยชน์ มันย่อมดีกว่าที่เรานำเข้ามาแบบสำเร็จรูป 100% ยอมรับว่าวันนี้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย มันไม่สามารถไปไหนได้ เพราะมัน “มีแต่นโยบายแต่ไม่สนับสนุน” การปฏิบัติทำไม่ได้เลย ทั้งที่จริงแล้วประเทศไทยมีขีดความสามารถมาก อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มันคือความมั่นคงของประเทศ
เราต้องยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบันมันทำไม่ได้เลย ทำให้เราไม่สามารถเป็นฮับของภูมิภาคได้ รัฐควรจะต้องแก้ด้วยการสนับสนุนภาษีบวกเพิ่มให้ 10% ต่อเมื่อเป็นสินค้า Made in Thailand (MIT) ไม่ใช่ไปให้บริษัทนายหน้าที่นำเข้าสินค้าสำเร็จรูปมาขายในประเทศ สินค้าประเทศไทยเท่านั้นที่ควรจะได้สิทธิบวกเพิ่ม
เบื้องหลังความสำเร็จ “มาดามรถถัง” หญิงแกร่งบนเวทีโลก